เครือซีพีเสนอแนวทางผลักดันความยั่งยืนควบคู่การพัฒนาทางเทคโนโลยีสู่ธุรกิจยุคใหม่ รับมือความท้าทายความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและความผันผวนของโลก บนเวที S&P Global Ratings and TRIS Rating Thailand Credit Spotlight: Risks And Opportunities In A Changing Global Economy

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 — ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ และประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมแสดงความคิดเห็นบนเวที S&P Global Ratings and TRIS Rating Thailand Credit Spotlight: Risks And Opportunities In A Changing Global Economy ในหัวข้อ Geopolitical, Technological, And Climate Challenges – Corporate Perspectives ร่วมกับผู้นำองค์กรด้านความยั่งยืนในระดับเทศ ได้แก่  คุณพีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม (เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล ประเทศไทย) และมี คุณอรรณพ ศุภชยานนท์ ผู้อำนวยการสายงานจัดอันดับเครดิต บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เป็นผู้ดำเนินเสวนา 

S&P Global Ratings and TRIS Rating Thailand Credit Spotlight: Risks And Opportunities In A Changing Global Economy จัดขึ้นโดย S&P Global Ratings บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก และ TRIS Rating Thailand สถาบันจัดอันดับเครดิตทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือระดับประเทศมากกว่า 20 ปี โดยมีผู้นำและผู้มีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยระดับประเทศเข้าร่วม เครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม (เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล ประเทศไทย) เป็นเวทีเสวนาเชิงลึกที่จัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับความท้าทายและความเสี่ยงที่ธุรกิจไทยกำลังเผชิญในเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในมิติการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจสู่ดิจิทัล การรับมือความเสี่ยงต่อการลงทุน และความท้าทายต่อความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศท่ามกลางความผันผวนของโลก

ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ และประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เราอยู่ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถใช้วิธีการเดิมทางธุรกิจเพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ได้ และความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องของกิจกรรมเพื่อสั่งคม (CSR) อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของเป้าหมายของธุรกิจที่ต้องใส่ในสมการ ก่อนจะชู 3 เป้าหมายความยั่งยืนที่เครือฯ ได้เคยประกาศเอาไว้ว่า ต้องทำให้สำเร็จในปี 2573 คือ 1. ตั้งเป้าหมายนำองค์กรสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 2. ของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์ และ 3. สนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมเผยเทรนด์การลงทุนทั่วโลกที่จะไหลไปลงทุนใน 3 เรื่อง หรือ 3D คือ 1. Digitalization คือการให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอ 2. Deglobalization โลกกำลังเข้าสู่ Multipolar ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ความเป็นโลกาภิวัตน์ลดน้อยลง มีความเป็นโลกหลายขั้ว 3. Decarbonization การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้เรารู้พฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น และลูกค้าเองก็สามารถตรวจสอบเรากลับได้และรู้ราคาต้นทุนของเราด้วย ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัว เพื่อไม่ให้หายไปจากการแข่งขัน สมัยก่อนเวลานักลงทุนต่างประเทศจะเลือกลงทุนที่ใด เขาจะถามหาเรื่องค่าแรงในประเทศนั้นก่อน แต่ปัจจุบันเขาถามหาคนเก่งว่ามีมากเท่าไหร่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ให้ความสำคัญในการสร้างคนเก่งเพื่อตอบความต้องการของโลก

ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรฯ กล่าวต่อว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นในการผลักดันคนรุ่นใหม่อยู่เสมอผ่าน​​สถาบันพัฒนาผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้จริงลงมือทำจริง ได้ไปลองทำในเรื่องใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น โครงการเพื่อสังคม เพื่อให้ได้ทั้งเรื่องงานและเข้าใจสังคมด้วย พร้อมปฏิรูปองค์กรทำให้ทุกกลุ่มธุรกิจมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีการแบ่งปันทรัพยากร องค์ความรู้ด้วยกัน ทะลายไซโล และหล่อหลอมความเป็นคนซีพี  ช่วยสร้างมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ ก่อนจะย้ำว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่เสมอ โดยเรียนรู้จากผู้เล่นในระดับโลกเพราะทุกฝ่ายต่างอยู่ในกระดานธุรกิจเดียวกัน เพียงแต่อาจจะคนธุรกิจ แต่ความเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน พร้อมชี้ว่าธุรกิจในยุคนี้ต้องมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ 

ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP Group ถูกประกาศให้เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนโดดเด่น โดยได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนระดับ “Top 5%” ในกลุ่มอุตสาหกรรม Industrial Conglomerates ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในรายงาน The Sustainability Yearbook 2024 จาก S&P Global โดยเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินการด้านความยั่งยืนอยู่ใน Top 5% สูงสุดจากจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมการประเมินฯ ในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งหมด 102 บริษัท กล่าวได้ว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังได้คะแนนสูงสุดมากถึง 7 หัวข้อ ถือเป็นเอกชนไทยรายเดียวที่ติดอันดับในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวร่วมกับ SK Inc ธุรกิจโทรคมนาคมจากสาธารณรัฐเกาหลี Siemens AG บริษัทเทคโนโลยีของเยอรมัน Keppel Corporation Ltd. ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนอกชายฝั่งและทางทะเลของสิงค์โปร์ และ Samsung C&T Corporation บริษัทชั้นนำด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างระดับโลกจากสาธารณรัฐเกาหลี