เนื่องในวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสตรีสากล เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ ร่วมเฉลิมฉลองและตอกย้ำความมุ่งมั่นเพื่อการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิงในองค์กร เปิดโอกาสให้ทุกเพศสามารถเติบโตและมีส่วนร่วมขับเคลื่อนองค์กรอย่างเท่าเทียม โดยเครือฯ ได้ประกาศนโยบาย ด้านสิทธิมนุษยชนและความหลากหลาย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ที่ไม่เพียงช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง แต่ยังส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยเครือฯ เปิดโอกาสให้ผู้นำหญิงจากหลากหลายธุรกิจในเครือฯ ได้แสดงวิสัยทัศน์และแนวทางการสนับสนุนสิทธิสตรี ผ่านนโยบายและโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียม สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและสังคมไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม เพราะเครือซีพีเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีพนักงานทั่วโลกกว่า 5 แสนคน การสนับสนุนส่งเสริมเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมจึงต้องทำเป็นระบบตั้งแต่การกำหนดนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารที่ให้ความสำคัญ ไปจนถึงการปฏิบัติติได้จริงในระดับพนักงาน ซึ่งในปีที่ผ่านมาเครือฯ มีสัดส่วนของผู้บริหารชายและหญิงที่ใกล้เคียงกัน ในส่วนของระดับพนักงานพบว่ามีสัดส่วนของพนักงานหญิงรวม 51% มากกว่าพนักงานชายที่มีอยู่ 49% โดยเราได้มีการสร้างความสมดุลของบุคลากรเพศหญิงและเพศชายในระดับผู้บริหาร เช่น โครงการพัฒนาผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการที่เป็นเพศหญิงถึงร้อยละ 52 แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมสิทธิสตรี เนื่องจากเชื่อว่าการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคคลจะทำให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ยังมีการให้สวัสดิการเฉพาะพนักงานหญิง อาทิ ทรู ให้สิทธิลาคลอดได้สูงสุด 180 วัน แม็คโครและซีพีเอฟจัดให้มีสถานที่สำหรับการให้นมบุตรของพนักงาน เป็นต้น อีกทั้งในปีนี้ซีพีเอฟ ยังได้รับรางวัล Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) – สาขา Asia’s Best Sustainability Report ด้าน Human Rights ระดับ Gold ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านอย่างเป็นรูปธรรม บนหลักการของความเท่าเทียม เคารพในความแตกต่างหลากหลาย เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน
ขณะที่ คุณเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจค้าส่ง บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) และในฐานะผู้ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในแวดวงธุรกิจ ประจำปี 2024 จากนิตยสารระดับโลก Fortune เปิดเผยว่า ซีพี แอ็กซ์ตร้า ได้ดำเนินการนโยบายของเครือซีพีในการสนับสนุนและส่งเสริมการยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศ โดยเครือซีพีและซีพี แอ็กซ์ตร้า เป็นองค์กรที่เปิดกว้างไม่ว่าเพศใดก็สามารถมีบทบาทสำคัญในองค์กรได้ โดยเฉพาะผู้หญิงให้ได้มีโอกาสนำศักยภาพมาใช้ในการทำงานได้อย่างเท่าเทียมกันตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงานในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง โดยซีพี แอ็กซ์ตร้ามีสัดส่วนของผู้หญิง 57%และมีผู้บริหารเพศหญิงกว่า 57% สิ่งสำคัญคือเราเปิดพื้นที่และโอกาสให้ไม่ว่าเพศใดก็เอาความแตกต่างของตัวเองมาสนับสนุนการทำงานร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้องค์กรมีความแข็งแรง พร้อมส่งมอบสิ่งที่มีคุณค่าและสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ
ด้าน คุณมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด เปิดเผยว่า เครือซีพี ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศและสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในองค์กรอย่างชัดเจน โดยมีนโยบายที่มุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเติบโตบนพื้นฐานของความสามารถ โดยจากการที่บริษัทแอสเซนด์ มันนี่ เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านฟินเทค คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าบริษัทฯ มีคนทำงานที่เป็นผู้ชายเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง ผู้บริหารระดับสูงของ แอสเซนด์ มันนี่ กว่า 50% เป็นผู้หญิง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรของเราที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ทุกเพศ โดยให้ความสำคัญกับศักยภาพของบุคคลมากกว่าข้อจำกัดทางเพศ นอกจากนี้ เรามองว่าการมีมายเซ็ทที่ยืดหยุ่นได้ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจของแอสเซนด์ มันนี่ คือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แอสเซนด์ มันนี่ เน้นการผลักดันและให้แรงบันดาลใจให้พนักงานของเราเกิดการเรียนรู้อยู่ตลอด พร้อมเปิดโอกาสให้คนทุกเพศในองค์กร รวมทั้งผู้หญิงได้แสดงความสามารถเต็มที่เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และพร้อมผลักดันนโยบายของเครือซีพีสู่ Tech Company อนาคต
ในส่วนของ คุณปพิตชญา สุวรรณดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ฟิวเจอร์ ซิตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า องค์กรเราไม่เคยมองเรื่องเพศมาเป็นตัวแบ่งแยก ไม่ว่าเพศใดไม่มีผลกระทบในการทำงานร่วมกัน ในหลายส่วนขององค์กรเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราทำเสมอในกลุ่มบริษัทที่ดูแล คือการจะใช้ความเป็นผู้หญิงในการส่งเสริมความเท่าเทียมในการทำงานร่วมกัน ผ่านการยึดโยงความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงาน เช่นเราไม่มีห้องทำงาน จะเป็นการนั่งทำงานร่วมกันไม่มีการแบ่งกลุ่มผู้บริหาร การให้กำลังใจและแรงบันดาลใจในการทำงาน การส่งเสริมการแสดงออกความคิดเห็นโดยไม่ปิดกั้น พูดคุยกันแบบจริงใจ เป็น open communication เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม และสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของเครือฯ
“ผู้นำหญิงควรเป็นส่วนสำคัญที่เคียงข้างในทุกภาคส่วนขององค์กร ใช้ทักษะเฉพาะตัว เช่น การสื่อสาร และความละเอียดรอบคอบ เพื่อสร้างประโยชน์และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน”
“ไม่มีข้อจำกัดใดๆที่ขวางกั้นระหว่างผู้หญิงกับการบรรลุเป้าหมาย ความสำเร็จของเรา เริ่มต้นที่การตระหนักในคุณค่าของตนเอง เชื่อในพลังของเรา รู้จักตนเองว่าเราเป็นใคร ต้องการอะไร และรู้จักใช้คุณค่าพิเศษของความเป็นผู้หญิงเพื่อเติมเต็มเป้าหมายของเรา”
“ผู้นำหญิงต้องดูแลทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ทั้งในเรื่องงาน ครอบครัว และชีวิตส่วนตัว เพื่อให้สามารถทำงาน ได้อย่างเต็มที่และมีความสุข”
“ความเป็นผู้หญิงไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นพลังที่ช่วยให้เราก้าวข้ามทุกข้อจำกัด เมื่อเรามองเห็นเป้าหมายชัดเจนและทุ่มเทให้เต็มที่ ผู้นำหญิงต้องใช้ soft power เป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบ เปลี่ยนความละเอียดถี่ถ้วนให้เป็นความรอบคอบ แต่ต้องมองภาพรวมก่อน แล้วจึงจัดลำดับความสำคัญ และลงลึกในรายละเอียดเฉพาะที่สำคัญเท่านั้น”
“ใน ซีพี ออลล์ ทุกเพศสภาพได้รับโอกาส และความเสมอภาคในการเติบโต เราไม่ถูกจำกัดโดยเพศ แต่จะได้รับการยอมรับจากความรู้และความสามารถ”
“อนาคตที่ยั่งยืนคืออนาคตที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียม เมื่อเราให้โอกาสและสนับสนุนกัน เราจะสร้างสังคมที่ยั่งยืน เติบโต และเต็มไปด้วยโอกาสที่ไร้ขีดจำกัด”