.“หนูจะไปเรียนได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีโรงเรียนไหนอยู่ใกล้บ้านเลย”
.
ทีมงานคลังภาพซีพี 100 ปี ชวนคุณหมุนเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อราว 40 ปีก่อน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกอบธุรกิจด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และอาหาร ทำให้มีโอกาสใกล้ชิดเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ได้พบเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา
มีเด็กจำนวนมากที่ฝันอยากเรียนหนังสือ แต่ในวันนั้นโรงเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ในหัวเมืองหรืออำเภอขนาดใหญ่ ครอบครัวชาวไร่ชาวนาที่มีเงินทุนจำกัดจึงไม่มีกำลังมากพอที่จะส่งลูกหลานไปเรียน เท่ากับความฝันของเด็กๆ ได้จบลงตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่ม
.
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ โรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ แห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2520 ที่บ้านโนนทอง ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
เนื่องจากในช่วงเวลานั้นบริษัทในเครือซีพีไปตั้งโรงงานทอกระสอบที่บ้านโนนทอง และได้เห็นสภาพโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ขาดแคลนทั้งอาคาร อุปกรณ์การเรียน ในขณะที่บ้านกับโรงเรียนก็อยู่ห่างกันหลายสิบกิโลเมตร ท่านประธานจรัญ เจียรวนนท์ จึงสร้างโรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศขึ้น เพื่อให้ลูกหลานเกษตรกรมีสถานศึกษาใกล้บ้าน
.
ต่อมาในปี 2521 โรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 2 สร้างขึ้นที่หมู่บ้านยุบอีปูน ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา โดยมีจุดเริ่มต้นจาก ลุงเสา หอมอ่อน อดีตพนักงานขับรถที่ได้รับหน้าที่จากเครือซีพีให้บุกเบิกดูแลหน่วยส่งเสริมการปลูกและรับซื้อข้าวโพดตั้งในพื้นที่หมู่บ้านยุบอีปูนในปี 2518 ได้เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านผ่าน คุณมนตรี เจียรวนนท์ จนเกิดเป็นโรงเรียนเจียรว นนท์อุทิศ 2 ขึ้น โดยลุงเสาและญาติพี่น้องได้เสียสละที่ดินของตัวเองจำนวน 14 ไร่ เพื่อสร้างโรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 2
.
หลังจากนั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาโรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศในการพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศเพื่อให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง ได้แก่ โรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 3 อำเภอผาขาว, โรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 4 อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย, โรงเรียนบ้านโพนแพง (เจียรวนนท์อุทิศ 5) อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร, โรงเรียนมิตรมวลชนเชียงใหม่ (เจียรวนนท์อุทิศ 6) อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, โรงเรียนบ้านป่าไผ่ (เจียรวนนท์อุทิศ 7) อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และโรงเรียนบ้านอ่างกะป่อง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด
.
นอกจากเริ่มต้นนับหนึ่งให้แก่โรงเรียนหลายแห่ง กลุ่มธุรกิจในเครือซีพีได้ใช้ศักยภาพของบริษัทตัวเองในการต่อเติมจิ๊กซอว์แห่งความฝันนี้ อาทิ เจียไต๋มอบเมล็ดพันธุ์ผักสนับสนุนโครงการปลูกพืชสวนครัวและโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้แก่ทุกโรงเรียนเป็นประจำทุกปี
.
ซีพี ออลล์ มอบทุนการศึกษา ‘เจียรวนนท์อุทิศ-สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์’ ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนทุนปัญญาภิวัฒน์เข้ามาศึกษาด้านธุรกิจค้าปลีกในระดับปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ และยังมีโอกาสที่จะได้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น
.
ทรูวิชั่นส์ ติดตั้งชุดอุปกรณ์และสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้จากโครงการโรงเรียนต้นแบบทรูปลูกปัญญาในโรงเรียนเจียรวนนท์ทุกแห่ง เพื่อเปิดโลกกว้างทางการศึกษาให้เด็กในชนบท
.
รวมถึงพี่ๆ น้องๆ ในหน่วยธุรกิจต่างๆ ที่แวะเวียนไปจัดกิจกรรม เช่น วิชาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เทคโนโลยี และภาษา เพื่อให้น้องๆ ได้เตรียมความพร้อมก่อนลงสนามการแข่งขันจริง
.
นอกจากนี้ทุกโรงเรียนยังได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ ทั้งอุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์กีฬา ยารักษาโรค รวมถึงในทุกฤดูหนาว ผู้บริหารและตัวแทนของเครือซีพีจะนำเสื้อและอุปกรณ์กันหนาวไปแจกจ่ายให้กับเด็กๆ
.
สิ่งนี้อาจฟังดูเล็กน้อย แต่สำหรับหลายครอบครัวที่ไม่มีแม้เงินซื้อผ้าห่ม สิ่งของเหล่านี้ได้ช่วยโอบกอดพวกเขาให้ผ่านพ้นลมหนาวที่โหดร้ายไปได้ มีเด็กหลายคนที่เก็บเสื้อกันหนาวที่ได้จากซีพีในวันนั้นเป็นที่ระลึกจนถึงวันนี้ เช่น ‘ครูลูกปลิว จันทร์พุดซา’ อาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อดีตนักเรียนจากโรงเรียนเจียรวนนท์อุทิศ 2 ที่เติบโตจากดินแดนแห่งโอกาสนี้ และจะเล่าเรื่องราวของตัวเองในตอนต่อไป
.
อ้างอิง:
-
รายการท่องโลกเกษตร https://www.youtube.com/watch?v=1hvxv41XqZg
.
ร่วมเป็นสมาชิก Facebook Group: คลังภาพซีพี 100 ปี เพื่อติดตามอ่านเรื่องราวทั้งจากนักเขียนรุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก ภาพหาดูยาก และเรื่องราวดีๆ ได้ที่ www.facebook.com/groups/cpgallery
ร่วมเป็นสมาชิก Facebook Group: คลังภาพซีพี 100 ปี เพื่อติดตามอ่านเรื่องราวทั้งจากนักเขียนรุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก ภาพหาดูยาก และเรื่องราวดีๆ ได้ที่ www.facebook.com/groups/cpgallery
.
.