ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เปิด 5 เหตุผลสำคัญ ทำไม “คนไทย” ควรฉีดวัคซีน

 

“วัคซีนไม่กันติด แต่กันตาย” หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะช่วงเวลานี้หลายประเทศทั่วโลกและประเทศไทย ยังคงมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 กันอยู่มาก และบนโลกยังไม่มียารักษาให้หายโดยเฉพาะ

ดังนั้น “วัคซีน” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะปกป้องมวลมนุษย์ให้ปลอดภัยจากโรคร้ายนี้ได้

แต่หลายคนยังไม่มั่นใจว่า จะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดีหรือไม่ เนื่องจากกังวลถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีน

ทีมข่าว TNN ONLINE ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงเหตุผลสำคัญที่ “ทำไมคนไทยต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19”

เมื่อได้อ่านเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้แล้ว อาจจะทำให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ว่า จะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน

เปิด 5 เหตุผลสำคัญ ทำไมคนไทยต้องฉีดวัคซีนต้านโควิด-19

1.เพื่อป้องกันตัวเอง

วัคซีนที่ปัจจุบันมีใช้เกือบทุกยี่ห้อลดอัตราความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 และลดอัตราการเสียชีวิต สำหรับวัคซีน 2 ชนิดที่นำเข้ามาในประเทศไทย การศึกษาระยะที่ 3 ยืนยันว่าสามารถลดความรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิต ที่สำคัญมากไปกว่านั้น หลังจากที่ติดตามมีการใช้กันเป็นหลายร้อยล้านโดสของวัคซีนทั้ง 2 ชนิด เช่น ในประเทศจีนใช้ซิโนแวค ในสหราชอาณาจักรใช้แอสตร้าเซนเนก้า พบว่า อัตราการเสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน

ดังนั้น อันดับแรกคือป้องกันตัวเอง ณ วันนี้โควิด-19 ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตพุ่งขึ้นทั่วโลก ขณะที่ ประเทศไทยเสียชีวิตวันละ 20-30 ราย เพราะฉะนั้น “ไม่ควรเสี่ยง”

2.เพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัวและเพื่อน

เมื่อใดก็ตามที่เราฉีดวัคซีน เพื่อนๆ ฉีดวัคซีน โอกาสในการที่เชื้อไวรัสโควิด-19 จะแพร่กระจายจะน้อยลง โอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจะน้อยลงเช่นกัน เช่น สมมติในบ้านมีผู้สูงอายุที่นอนติดเตียงอยู่ หากตัวเราเองฉีดวัคซีน โอกาสที่จะแพร่กระจายลดลง ล่าสุด มีรายงานการศึกษาออกมามากขึ้นว่า การฉีดวัคซีนช่วยลดการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น ฉีดวัคซีนถ้าไม่อยากให้คนในครอบครัวหรือเพื่อน ติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทย เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันหลายคนในครอบครัว นั่งกินข้าว พูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร ซึ่งถ้าจะป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการไม่ให้คุยกันหรือต่างคนต่างกินข้าวในทางปฏิบัติทำได้ยากมาก แต่ถ้าฉีดวัคซีนกันในครอบครัว จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้เยอะ

3.ฉีดวัคซีนเกิดผลข้างเคียง 1-4 คน ใน 1 ล้านคน แต่ติดโควิดเสียชีวิต 2 คนใน 100 คน

ความปลอดภัยของวัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่ไทยนำเข้ามานั้น ปัจจุบันความปลอดภัยของวัคซีนเยอะมากขึ้น โดยอัตราการฉีดวัคซีน 1 ล้านคนมีโอกาสมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง 1-4 คน ส่วนผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ก็เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ถ้าติดโควิด-19 ตัวเลขของโลกวันนี้ ติด 100 คน เสียชีวิต 2.2 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันมากมาย

4.เชื้อโควิด-19 อยู่ไม่ได้ ถ้าคนไทยฉีดวัคซีน

ไวรัสชนิดนี้ เมื่ออยู่ในอากาศ อุณหภูมิ 25 องศาฯ ไม่กี่นาที เชื้อก็จะสลายไป ส่วนหากเชื้ออยู่ในน้ำลาย สารคัดหลั่ง เชื้อก็จะอยู่ได้หลายชั่วโมง แต่สุดท้ายก็จะสลายไป โดยเชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะในคน แต่หากบุคคลนั้นมีภูมิคุ้มกันในการจัดการเชื้อ ก็จะทำให้ไวรัสไม่สามารถอยู่ได้ ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ คือ การฉีดวัคซีนให้เยอะพอ และฉีดให้เร็ว

อีกหนึ่งปัจจัยมีข้อมูลว่า โควิด-19 บางสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์อังกฤษ งานวิจัยพบว่า วัคซีนหลายยี่ห้อรวมทั้ง 2 ชนิดที่นำเข้ามาในไทยด้วยนั้น ยังช่วยลดความรุนแรงของสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ไปแล้วในระดับหนึ่ง

5.ทำมาหากินได้ตามปกติ

หากช่วยกันทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดน้อยลง เชื่อว่ารัฐบาลจะเปิดร้านอาหาร เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้

“ผมเชื่อว่า ตอนนี้ทุกคนเครียดกับการที่ไม่ได้ไปไหนมาไหน แต่ถ้าอยากจะทำแบบนั้นได้ เราต้องหยุดการติดเชื้อ หยุดการเสียชีวิตให้ได้ก่อนโดยการฉีดวัคซีน แล้วสุดท้ายประเทศของเราจะกลับมาคล้ายๆ ของเดิม เพราะมันเหมือนเดิมไม่ได้หรอก เรายังคงต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไปจนถึงปลายปีนี้แน่นอน ต่อให้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามมาตรการนี้อยู่ เพราะยังมีโอกาสเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจจะกลายพันธุ์ขึ้นมาได้” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ

5 ปัจจัย “เรียกความเชื่อมั่น” คนไทย หันมาฉีดเพื่อชาติ

1.อาจารย์มหาวิทยาลัยส่งต่อความรู้ด้านโควิด-19

กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องไวรัสและวัคซีน ได้ออกมาแถลงข่าวไปเมื่อหลายวันก่อน ซึ่งมีความรู้ เชี่ยวชาญ และเก่งในด้านนี้ ที่สำคัญคือ “ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับวัคซีน และการเมือง” โดยเป็นการยกข้อมูลสำคัญๆ เช่น ประกาศขององค์การอนามัยโลก องค์กรระดับชาติต่างๆ มานำเสนอเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนและไวรัสโควิด-19

2.ผู้สูงอายุบอกต่อ

ต่อไปจะมีการเชิญผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วมาเล่าให้ฟัง รวมทั้ง มีผู้ใหญ่บางคนที่คนไทยทั้งประเทศรู้จัก ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อยดี เชื่อว่าคนเหล่านี้จะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ในการตัดสินใจฉีดวัคซีนได้อย่างดีเยี่ยม

3.ฟังจากปากคนแพ้ที่วัคซีนตัวจริง

นอกจากนี้ ยังมีการเชิญผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว เกิดภาวะแทรกซ้อนมาเล่าให้ประชาชนฟัง เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่กลัวกัน นั่นคือ ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน แต่เมื่อไปสอบถามดูจะพบว่า 48 ชม. หลังจากการฉีดวัคซีน ร่างกายกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม

4.กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์รีวิว

คนในสังคมมักจะเลือกฟังคนที่ตัวเองอยากฟัง เช่น นักวิชาการ ดารา คนที่สังคมคุ้นเคย หลังจากที่คนกลุ่มนี้ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว ทั้งตัวเองและครอบครัว ได้บอกเล่าประสบการณ์ว่าการฉีดเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร สบายใจขึ้นแค่ไหน จากที่กลัวๆ ทั้งหลายก็หายเป็นปลิดทิ้ง

5.เยียวยาผู้ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีน

การที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยากรณีผู้ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐนั้น หลายประเทศได้ใช้โมเดลนี้เช่นกัน เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่า หากเกิดภาวะแทรกซ้อนรัฐจะดูแลให้ เหมือนกับประกันโควิด ประกันชีวิต ซึ่งเมื่อมีประกันทุกคนก็สบายใจ ว่าอย่างน้อยหากเกิดปัญหาก็จะได้รับการเยียวยา ซึ่งตามความเห็นมองว่า ทำเพื่อความสบายใจ

“ต่อไปจะมีการเชิญผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนหลายคน มาบอกเล่าประสบการณ์ อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจริงๆ เพื่อให้สังคมมั่นใจว่า ‘นี่ไม่ใช่การจัดฉาก’ นี่คือของจริง คนจริงๆ ที่มาเล่าให้ฟัง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุด้วยว่า เมื่อเวลาผ่านไปจะเห็นว่า คนเริ่มไว้ใจมากขึ้น เพราะมีการฉีดที่เยอะขึ้น คาดว่า 1-2 เดือน คนจะวิ่งเข้ามาฉีดมากขึ้นไปอีก โดยหวังอยากให้ฉีดด้วยความสบายใจ เกิดประโยชน์จริงๆ โดยที่ไม่มีใครมาบังคับ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศไทยโดยเร็วที่สุด.

ที่มา :  TNN ONLINE