ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็วย่อมได้เปรียบในการแข่งขัน แนวคิดการ Lean ให้องค์กรทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ปราศจากความสูญเปล่า เปรียบเสมือนคนสุขภาพดี ร่างกายปราศจากไขมัน จึงเป็นการบริหารจัดการที่สำคัญในการทำธุรกิจ
Lean หัวใจการทำธุรกิจ
ความหมายของ Lean คือ การเพิ่มคุณค่าให้ลูกค้า ลดความสูญเปล่าในกระบวนผลิต ซึ่งเป็นช่องทางทของการเงินรั่วไหลยที่เรามองไม่เห็น Lean จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการทำธุรกิจได้อย่างจริงจัง เพราะกำไรมาจากต้นทุนที่ลดลง ไม่ใช่การเพิ่มราคาขาย ซึ่งหากเราลดต้นทุนได้ก็สามารถขายลดราคาได้ในขณะที่กำไรยังเท่าเดิม การที่ราคาถูกกว่ายังเป็นข้อได้เปรีบในการแข่งขัน
หลักการของ Lean ประกอบด้วย 5 ข้อได้แก่
- การระบุคุณค่า (Value) โดยมองว่าลูกค้าได้รับสิ่งที่มีคุณค่และคุ้มค่าหรือไม่ และเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ เพราะหากเป็นคุณค่าที่ลูกค้าไม่ต้องการ กลับทำให้สินค้าราคาสูงโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงต้องส่งมอบคุณค่าที่เหมาะสมแก่ลูกค้าเป็นหลัก การฟังเสียงลูกค้าจะช่วยให้ผู้ประกอบการรับรู้ปัญหา หรือ Pain Point ของลูกค้า และส่งมอบคุณค่าที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้
- แผนผังสายธารคุณค่า : Value Stream Mapping (VSM) – เขียนแผนผังการไหลของงานเพื่อให้รู้ว่าเกิดความสูญเปล่าในขั้นตอนไหนบ้าง พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่าแต่ละขั้นตอนใช้เวลาเท่าไร ขั้นตอนไหนใช้เวลามากไป ใช้คนมากเกินไป งานไหนมีมูลค่า งานไหนไม่มีมูลค่า และการไหลของงานเป็นไปอย่างราบรื่นหรือติดขัดในขั้นตอนไหน เป็นการเช็คสุขภาพการผลิต บริการของธุรกิจว่าเป็นอย่างไร
- การทำงานอย่างต่อเนื่อง (Flow) จัดการให้งานไหลรื่น กำจัดคอขวดไม่ให้งานหยุดชะงัก ตามหลัก 7 ความสูญเปล่า และใช้การจัดการเทคโนโลยีต่างๆ แก้ไขให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องจนจบกระบวนการ
- ระบบดึง Pull and Balance เทคนิคขั้นสูงทำให้เกิดสมดุล Demand กับ Supply (Capacity) โดยใช้หลักการจัดการต่างๆ เช่น สมดุลกระบวนการ (Line Balance) Small Lot Production, Kanban และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
- ระบบที่สมบูรณ์ (Perfection) มีการวัดผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทำ PDCA (Plan Do Check Act) เพื่อให้งานออกมาได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไข หาจุดบกพร่อง พัฒนาให้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือ อย่าพอใจอะไรง่ายๆ เพราะความพอใจเป็นศัตรูของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา
หลักการ Lean 5 ข้อที่กล่าวมา ทำเพื่อขจัดความสูญเปล่า 7 ประการ (7 wastes) ที่บั่นทอนประสิทธิผลในการทำงาน ได้แก่
- เวลา (Time) การรอคอยเป็นความสูญเปล่าเรื่องเวลา เช่น รอคอยผลิต รอขนส่ง เป็นต้น
- การเคลื่อนไหว (Motion) รูปแบบและแผนผังการทำงานที่ดี จะช่วยลดการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น และช่วยให้งานมีประสิทธิผลมากขึ้น เช่น การวางของในระดับความสูงพอดี พนักงานไม่ต้องเอื้อมหยิบของ หรือการจัดแผนผังในร้านอาหาร ให้พนักงานบริการลูกค้าได้อย่างคล่องตัว ฯลฯ
- การขนส่ง (Transportation) จัดเส้นทางขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ
- งานมีข้อผิดพลาด (Defect) ทำให้เสียทั้งเวลา วัตถุดิบ กำลังคนเพื่อแก้ไขงาน
- สินค้าคงคลัง (Inventory) มีสต็อกของมากเกินไป
- สินค้าผลิตมาเกิน (Over Production) สินค้าผลิตมามากเกินไป
- สินค้าเกินความต้องการของลูกค้า (Over Processing) แม้จะเป็นสินค้าที่มีคุณค่า แต่ถ้าเกินความต้องการของลูกค้า หรือมีขั้นตอนมากเกินความจำเป็น ก็นับเป็นความสูญเปล่า
นอกจากนี้ ยังมีความสูญเปล่าด้าน Talent ที่เกิดขึ้นเมื่อองค์กรไม่ได้ให้ Talent ทำงานตามความสามารถของเขา
ตัวชี้วัดความ Lean
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องกำจัด คือ กระบวนการซ้ำซ้อน ที่เป็น 7 wastes เพื่อช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิผลการทำงาน สะท้อนให้เห็นดัวยตัวชี้วัดต่างๆ เช่น Lead Time การทำงาน (Manufacturing Cycle Time, Dock to Dock Time) ถ้า Lead Time สั้น แปลว่าสูญเปล่าน้อย ถ้า Lead Time มาก หมายถึงสูญเปล่ามาก รวมถึงตัวเลขเปอร์เซ็นต์ต่างๆ อย่าง Inventory Turn, On Time Delivery, Overall Equipment Effectiveness, Right First Time, People Productivity, Floor Space Utilization เป็นต้น
สิ่งที่ยากในการทำ Lean Management คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานที่เคยทำมาแต่เดิม เพราะ เคยชินกับการทำงานแบบเดิม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะรู้สึกว่าเป็นภาระ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือจะต้องมุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ระบบการทำงานดีขึ้นตลอดเวลา
การทำ Lean จะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มจากตัวเจ้าของกิจการ ที่ต้องเป็นผู้ริเริ่มและผู้นำลงมือเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างจริงจัง “เราต้องคิดแบบ Start Up (สร้างธุรกิจให้เติบโตแบบ Exponential) ทำแบบ SME (ผู้บริหารลงมือเอง เข้าถึงลูกค้าด้วยตัวเอง) และมีระบบแบบมหาชน (ระบบการทำงานที่มีมาตรฐาน ไม่จำเป็นต้องเป็นมีราคาสูง)”
ได้มีการยดตัวอย่าง Zero Waste Wooden Pallet ของบริษัท ควอลิวูด จำกัด ที่ใช้หลักการ Optimization คิดค้นเทคนิคการตัดไม้ทำพาเลทให้เหลือเศษไม้น้อยที่สุด เพื่อลดความสูญเปล่าจากเศษไม้เหลือทิ้ง โดยได้นำเศษไม้เหลือทิ้งมาบดอัดรีไซเคิลกลับมาเป็นส่วนประกอบพาเลทไม้ได้ด้วย ผู้ประกอบการต้องดูด้วยว่าอะไรที่เป็น waste อะไรที่ควรนำกลับมาใช้ได้ เพื่อช่วยลดความสูญเปล่า ซึ่งก็คือเงินที่รั่วไหลไปทั้งสิ้น
เทคนิคดังกล่าว ต้องการเน้นย้ำจุดยืนของควอลิวูดที่ต้องการเป็นองค์กรที่ดีต่อโลกใบนี้ ซึ่งธุรกิจการทำพาเลทไม้ของควอลิวูด เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม “ เทคนิคการ Lean ในขั้นตอนการผลิตสอดคล้องกับแนวคิด GO LEAN, GET GREEN ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การตัดไม้ การผลิต การขนส่ง รวมไปถึงการกำจัดเศษไม้เหลือทิ้ง เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา ซึ่งการคือ CSV (Creating Share Value) ที่ธุรกิจส่งคุณค่าสู่สังคม เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจ และสามารถบอกลูกค้าได้ว่า การที่เขาเลือกใช้สินค้าของควอลิวูด ก็จะเป็นหนึ่งใน Green Supply Chain ที่ได้ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกด้วย
อย่างไรก็ตาม การบริหารกิจการของควอลิวูด คือ การไม่ผูกขาดกับ Supplier รายเดียว ต้อง Diversify กลุ่มลูกค้าให้มีหลากหลายราย เพราะถ้ามีลูกค้ารายใหญ่ที่มาของรายได้ 50% มีความเสี่ยงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะหากลูกค้ารายนี้หายได้ ก็เท่ากับรายได้หายไป 50%
การปรับตัวคือ สิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องทำเพื่อที่จะอยู่รอดในโลกการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง องค์กรธุรกิจที่ผ่านการ Lean ให้มีคล่องตัว เปี่ยมประสิทธิภาพจะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และเป็นองค์กรที่อยู่รอดและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขีดความสามารถรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ที่มา : เพจ SCB Thailand อ้างถึงหลักสูต NIA- SCB Innovation-Based Enterprise (IBE) รุ่นที่ 2 โดยคุณปวีย์ภัทร วัฒนศิริเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิวูด จำกัด และ ดร.สุริยะ เลิศวัฒนพงษ์ชัย วันที่ 13 มกราคม 2564