เครือซีพี เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Diversity and Inclusion-ความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง ล่าสุดกลุ่มทรูจัดแคมเปญ “#เท่าเทียมที่แท้ทรู” สนับสนุนความความเท่าเทียมทางเพศตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

29 กันยายน 2565 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในการขับเคลื่อนองค์กรตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกำหนดนโยบายด้าน Diversity and Inclusion (D&I) หรือ ความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างที่ถือเป็นเทรนด์ของโลกให้เป็นเป้าหมายหนึ่งในการขับเคลื่อนสำคัญการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเครือซีพี ล่าสุดกลุ่มทรู บริษัทในเครือฯ ได้นำนโนบาย D&I ดังกล่าวมาจัดแคมเปญส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ภายใต้แนวคิด #เท่าเทียมที่แท้ทรู ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok โซเชียลมีเดียยอดนิยม ด้วยการชวนพนักงานและประชาชนทั่วไปร่วมทำคลิปแบบ Duet ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก เพื่อรณรงค์และสร้างความรู้ความเข้าใจพร้อมกระตุ้นให้คนในสังคมมีส่วนร่วมขับเคลื่อนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างตามหลักสิทธิมนุษยชนให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยการนำของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร ให้ความสำคัญในเรื่องของ “คน” เป็นรากฐานในการดำเนินธุรกิจ และตระหนักดีว่าสิทธิมนุษยชนคือแก่นแท้ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงได้ประกาศนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือซีพีสู่ปี 2573 ทั้งนี้เพราะเครือซีพีดำเนินธุรกิจหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม 22 ประเทศ จึงมีผู้บริหารและพนักงานที่มีความหลากหลายในด้านต่างๆ ทำงานอยู่ร่วมกันทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นอายุ เชื้อชาติ ศาสนา รวมไปถึงเพศสภาพ

“เครือซีพีเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยคนที่มีความหลากหลายในมิติต่างๆ การอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในความแตกต่างและความหลากหลายจึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ขององค์กร เครือซีพีและบริษัทในเครือฯจึงพยายามปรับกระบวนการทำงานให้บุคลากรเหล่านี้มาทำงานร่วมกัน  เพราะเราเชื่อว่า Diversity and Inclusion มีส่วนช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆอยู่เสมอ ดังนั้นการออกนโยบายด้วยการปฏิบัติกับทุกคน  ต้องไม่เพียงมองแต่เรื่องเพศสภาพ แต่ต้องวางแนวปฏิบัติต่อทุกคนตามสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เพิ่มคุณค่าในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของงองค์กร เพราะเชื่อมั่นว่าพลังและศักยภาพของพนักงานในเครือซีพีเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน”  ดร.ธีระพล กล่าว

ดร.ธีระพล กล่าวต่อว่า กลุ่มทรูซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมของเครือซีพีได้นำนโยบายด้าน D&I ของเครือซีพี ไปปรับเป็นยุทธศาสตร์และวางแนวปฏิบัติในองค์กร จนได้รับการยอมรับในกลุ่มดัชนี  DJSI ให้เป็นองค์กรอันดับหนึ่งของโลกด้านความยั่งยืน 4 ปีซ้อน โดยเป็นองค์กรด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่มีการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิง และความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQI+  ดังนั้นการจัดทำแคมเปญ #เท่าเทียมที่แท้ทรู ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ครั้งนี้จึงเป็นการสื่อสารถึงความตั้งใจจริงของกลุ่มทรูที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย D&I โดยเฉพาะด้านความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดความตระหนักรู้ของคนในสังคมผ่านการชวนพนักงานและประชาชนทั่วไปร่วมทำคลิปแบบ Duet ในการมีส่วนร่วมสื่อสารประเด็นดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากแคมเปญดังกล่าวแล้วกลุ่มทรูยังได้การสนับสนุนการจ้างงานและการปฏิบัติงานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมไปถึงเป็นบริษัทในเครือซีพีนำร่องจัดทำห้องน้ำเสมอภาค Multi Gender Bathroom ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาอีกด้วย

คุณณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า การที่ภาคธุรกิจอย่างเครือซีพีและทรู ให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน และขับเคลื่อนเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศนับเป็นเรื่องที่ดีในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality) มูลนิธิฯ มีข้อเสนอ 3 แนวทาง ดังนี้ 1. 1.ถ้าไม่มีก็ต้องสร้าง ยกตัวอย่างเช่น ซีพีและทรู สร้างให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงกิจกรรมที่ส่งเสริมความเท่าเทียมหากยังไม่เคยมีก็สามารถสร้างขึ้นมาใหม่2. ถ้ามีแล้วทำอย่างไรให้ดีขึ้น การมีกฎหมายที่ออกมา เช่น พรบ.ความเสมอภาคระหว่างเพศ ที่สามารถบังคับใช้ได้จริง 3. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคฝ่าย โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งมีความสำคัญ เช่น การกำหนดนโยบายของภาคเอกชนให้สิทธิพนักงานลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศได้ ในขณะที่ภาครัฐต้องมีส่วนร่วมสนับสนุน เพราะจะทำให้เกิดความยั่งยืน

การทำงานที่ผ่านมาของมูลนิธิฯ ตลอดระยะเวลา มากกว่า 10 ปี สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือมูลนิธิฯ ต้องจับมือทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ให้บรรลุเป้าหมายเรื่องความเท่าเทียมในสังคมไทย ฉะนั้นภาคีที่สำคัญที่รวมเข้ามาอยู่ในกระบวนการของการขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาคทางเพศ คือภาคีภาคธุรกิจ เพราะภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และการทำงานร่วมกันจะช่วยให้การผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นจริงขึ้นได้

สำหรับแคมเปญ #เท่าเทียมที่แท้ทรู ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ได้รับความนิยมจากพนักงานและประชาชนทั่วไปร่วมประกวดคลิปแบบ Duet อย่างคับคั่ง โดยมียอดรวม Engagement กว่า 270,000 วิว ในการสร้างการมีส่วนร่วมให้คนในสังคมเกิดวัฒนธรรมที่ยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลาย เพื่อสนับสนุนให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค