เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมหารือแบบ E-meeting กับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐ โดยนำเสนอแนวทางการสร้างแรงงานในอนาคตให้มีคุณภาพในด้านดิจิทัล
โดยคุณศุภชัย กล่าวว่าในปัจจุบันประเทศที่มีความพร้อมด้านบุคลากรดิจิทัล อันดับหนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกา ตามด้วยสิงคโปร์ สวีเดน โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 40 ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมบุคลากรภาครัฐทั้ง 3 มิติ ได้แก่ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และ ความพร้อมสู่อนาคต ซึ่งมีตัวชี้วัดระดับโลกจากสถาบัน IMD ที่ประเทศไทยสามารถนำมาใช้ในการเตรียมความพร้อมสู่อนาคตได้ โดยจะเกี่ยวข้องกับ Future Workforce ทั้งด้านกำลังคนของประเทศต่อยุคเศรษฐกิจใหม่ และ กำลังคนในการเสริมทักษะใหม่ (Up-skill) และ พัฒนาทักษะที่มีอยู่ (Re-skill)
ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 แรงงานหรือกำลังคนในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีกจำนวน 6.4 ล้านคน อุตสาหกรรมการผลิต 6.3 ล้านคน อุตสาหกรรมโรงแรมและอาหาร 2.8 ล้านคน อุตสาหกรรมการขนส่ง สายการบินและระบบการจัดส่งสินค้า 1.3 ล้านคน เมื่อรวมอุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวนตัวเลขผู้ตกงานจะมีถึง 8.4 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีนักศึกษาที่จบใหม่ ปีละ 500,000 คน โดยมีผู้ที่ไม่สามารถหางานได้ถึงปีละ 350,000 คน
โดยสภาดิจิทัลฯ ได้เสนอให้มีการสร้าง Learning Platform เน้นการสร้างพื้นฐานความรู้ด้านดิจิทัล และควรเริ่มตั้งแต่โรงเรียนในระดับประถมศึกษา โดยเด็กนักเรียน 1 คน ควรมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง แต่ในปัจจุบัน นักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ มีถึง 5-6 ล้านคน จึงควรมอบคอมพิวเตอร์ที่มีระบบการกรองของเสีย (Filtering software) ให้เป็นทรัพย์สินของโรงเรียนรัฐบาล และให้เด็กนักเรียนยืมไปใช้ได้ นอกจากนี้วิชาคอมพิวเตอร์ เช่น Basic coding ควรอยู่ในหลักสูตรหลัก ตั้งแต่ระดับการศึกษาเบื้องต้น เพื่อเตรียมทักษะในอนาคต พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน ส่วนในระดับอาชีวะ ควรมีการทำ Active learning เพื่อการ Up-skill และ Re-skill ที่สำคัญในระดับมหาวิทยาลัยควรเป็นรูปแบบ Smart & Collaborative ที่นักศึกษาสามารถแบ่งปันความรู้กันได้ นอกจากนี้ควรมีหลักสูตรด้านดิจิทัลให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ เช่น Data & Analytics, UX/UI Design, Product Management, Cyber Security, Business Innovation, Digital Marketing, Tech & Programming, Automation & Robotics และ AI เพื่อให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมในยุค 4.0 และมีศักยภาพสูงพอในการแข่งขันระดับประเทศ
อุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันในเรื่อง Future Workforce เนื่องจากเป็นส่วนที่รับรู้ว่าตลาดต้องการอะไร ผู้นำแต่ละอุตสาหกรรมจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงทักษะ และสนับสนุนให้มีการ Learning by Doing ผ่านการฝึกงาน ที่สามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้และมีค่าตอบแทนให้ โดยค่าตอบแทนจะมาจากบริษัทส่วนหนึ่งและภาครัฐอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเกิดเป็นภาพความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการ Up-skill และ Re-skill บุคลากรในประเทศไทย ทั้งนี้การให้ Freelancer ผู้ที่สามารถทำงานได้หลากหลาย และมีศักยภาพในการฝึกอบรม มาสอนและทำงานร่วมกับผู้อื่นก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการ Up-skill และ Re-skill นอกจากนี้ควรมีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุน Startups ไทย โดย Startups สามารถช่วยในการสร้างทักษะ และสร้างเศรษฐกิจใหม่ได้ ส่วนภาครัฐสามารถจ้างคนรุ่นใหม่มาช่วยขับเคลื่อน E-government ซึ่งจะเป็นทั้งการ Up-skill / Re-skill และ จ้างงานไปพร้อมกัน โดยสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ได้นำเสนอ 5 หลักการ ปฏิรูปโครงสร้างทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สามารถนำไปเป็นแนวทางการขับเคลื่อน E-government ดังนี้
วางเป้าหมายและดัชนีชี้วัด ว่าในแต่ละปี จะสร้างทักษะดิจิทัลอย่างไร
มีกลไกการตลาดและความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการ Up-skill และ Re-skill ระดับมหภาค
มีผู้นำที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนแต่ละภาคส่วน และต้องมีการรองรับคุณภาพของสถาบันและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาเป็นครูผู้สอนการพัฒนาทักษะ
Empowerment โดยการสร้าง Learning platform มีหลักสูตรให้เลือกในการพัฒนาทักษะ และมี Incentive ที่ดึงดูดให้รู้สึกว่าการพัฒนาทักษะนั้นคุ้มค่า
Technology and global training platform – นำ Analytic และ AI มาวิเคราะห์คุณภาพแรงงานในอนาคตว่าเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหรือไม่ เพื่อวัดคุณภาพ และใช้ศักยภาพองค์ความรู้จากต่างประเทศเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศไทย
ที่มา: DCT