ด้วยความมุ่งมั่นของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เครือซีพี ที่ต้องการยกระดับให้เครือซีพีเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็น “องค์กรที่เก่งและดี” ที่มี “Ethics and Compliance และ Good Governance” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือฯที่จะต้องก้าวสู่การเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำด้านความยั่งยืนระดับโลก
“นี่จึงเป็นสาเหตุที่เอาระบบ Ethisphere มาเป็นตัววัดให้เรา และเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีปรัชญามาจากผู้ก่อตั้ง โดยให้พนักงานหลายแสนคนเข้าใจเข้าถึงเพื่อแชร์ค่านิยมเดียวกัน” คุณพัชรี คงตระกูลเทียน หัวหน้าคณะผู้บริหาร สำนักกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เครือซีพีกล่าว
แต่ด้วยเครือซีพีเป็นองค์กรใหญ่ การขับเคลื่อนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากความแตกต่างของบริษัทในเครือที่มีทั้งบริษัทจดทะเบียนและไม่ได้จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันและแตกต่างกัน จำเป็นจะต้องมีระบบ กฎเกณฑ์ กติกา เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติและการกำกับดูแล ทั้งที่เป็นแนวปฏิบัติภายในของเครือเองและแนวปฏิบัติตามกรอบกติกาโลก เพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ค่านิยมองค์กรจนกลายเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน
พร้อมเล่าว่า ” ด้วยปรัชญาการทำธุรกิจของผู้ก่อตั้ง ตั้งแต่ยุคบุกเบิกบริษัทเจียไต๋ ขายเมล็ดพันธุ์ ในสมัยคุณพ่อของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ (ท่านประธานอาวุโส) ได้แสดงออกถึงคุณธรรมขั้นสูง ไม่ใช่แค่ ขายจบ แล้วจบ แต่ถ้าคุณซื้อเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว ยังไปไม่ได้ปลูกและหมดอายุก่อนคุณเอามาเปลี่ยนซองได้ใหม่ฟรี นั่นคือการเขียนวันหมดอายุไว้เมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้ว เป็นอะไรที่ในสมัยนั้นไม่มีใครทำกัน เพราะเกษตรกร หากปลูกแล้ว เปอร์เซ็นต์การงอกไม่ดี ปกติเขาก็จนอยู่แล้ว เขาไม่จนมากยิ่งขึ้นเหรอ นี่คือการ go beyond เป็นค่านิยมมีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง”
“จริง ๆ เรื่องนี้เป็นอะไรที่ฝังอยู่ในองค์กรโดยที่เราไม่รู้ตัว พอองค์กรใหญ่ขึ้น ต้องทำให้เป็นระบบ เป็นสากล จึงเป็นที่มาของการเอาสิ่งเหล่านี้ มาสร้างการรับรู้และการปฏิบัติ สื่อสารให้ทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คือ ค่านิยมองค์กร 6 ประการของเรานั่นเอง” คุณพัชรีกล่าว
คุณพัชรีกล่าวว่า “ค่านิยมของเราความหมายมันลึกซึ้งกว่า wording คือ ถ้อยคำ อย่างคำว่า Integrity มันไม่ลึกซึ้งเหมือนคำว่า “คุณธรรม” และในภาษาจีนความหมายรวมไปถึงความจงรักภักดี ความกตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน รวมถึงการมีคุณธรรมในใจ จิตสำนึก ดังนั้น “คุณธรรม” ไม่ใช่แค่คุณเดินตามกฎเกณฑ์แล้วเพียงพอ ต้องเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกด้วย จนกระทั่งเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอ คนที่มีจิตสำนึกที่ดี เขาจะไม่ผิดต่อกฎระเบียบ เขาจะมีความสำนึกในพระคุณ ไม่ทำผิดต่อผู้มีพระคุณ ไม่ว่าลูกค้า คู่ค้า ผู้ที่เกี่ยวข้อง”
ชูมาตรฐานโลกช่วยเคลื่อนทั้งองค์กร
คุณพัชรีกล่าวว่าการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ Ethisphere แกนหลักพูดถึงจริยธรรมหรือEthics ซึ่งผู้ก่อตั้งเครือซีพีได้ปฏิบัติเป็นปรัชญาองค์กรและนำหน้ามาโดยตลอด แต่เมื่อองค์กรใหญ่ขึ้น ขยายตัวเร็วขึ้น การจะให้คนหลายแสนคนปฏิบัติตามต้องมีกระบวนการจัดการและการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง
“กรอบ Ethisphere ระบุว่าคุณได้เน้นในเรื่องจริยธรรมไหม คุณได้เน้นในเรื่องการบริหารความเสี่ยงขององค์กรไหม โดยเฉพาะ Ethics & Compliance มีการนำไปสู่การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือไม่ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารระดับสูงปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนไหม มีนโยบายที่ชัดเจนไหม มีมาตรฐานไหม มีกระบวนการในการขับเคลื่อนไหม มีกระบวนการในสร้างจิตสำนึก อบรมให้ความรู้”
“รวมไปถึงวิธีการติดตามลงไปถึงระดับล่างไหม มีการสำรวจพนักงานทุกระดับว่านโยบายที่คุณประกาศพนักงานระดับล่างรู้เรื่องไหม กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ออกมาพนักงานทำตามนั้นไหม ทำอย่างต่อเนื่องไหม ทำอย่างมีแผนการหรือไม่ รวมทั้งโครงสร้างองค์กรมีตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างผู้บริหารกับระดับผู้กำกับดูแลไหม การขับเคลื่อนเป็นเรื่องของผู้บริหารคนเดียวหรือทั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน กรอบเหล่านี้เขามาดูทั้งกระบวนการไปจนถึงผลลัพธ์สุดท้าย”
คุณพัชรีกล่าวว่าเกณฑ์การวัดของ Ethisphere เป็นระบบที่ดี ด้วยความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่คาดหวังว่าเครือซีพีมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก ดังนั้นบริษัทในเครือก็ต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน แต่ด้วยบริบทของเครือซีพีมีพัฒนาการองค์กรที่แตกต่างกัน ความยากจึงอยู่ตรงนี้ว่าจะขับเคลื่อนทั้งกระบวน เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลและต้องสอดคล้องกับค่านิยมองค์กร ที่จะรักษาปรัชญาคุณแห่งธรรมตั้งแต่ผู้ก่อตั้งองค์กรลงมาได้อย่างไร และมีกระบวนการขับเคลื่อนที่เป็นระบบและต่อเนื่องอย่างไร จึงเป็นที่มาในการเดินไปสู่เกณฑ์ของ Ethisphere ที่คุณศุภชัยมุ่งมั่นว่าเราควรจะขับเคลื่อนเครือของเราให้ได้รางวัลอันนี้
คุณพัชรีกล่าวย้ำว่า “ดิฉันคิดว่ารางวัลก็เป็นเรื่องหนึ่ง ข้อสำคัญที่สุด เราควรจะมีสิ่งที่เราปฏิบัติจริง ทำจริง อันนี้สำคัญกว่า แต่เราจะช่วยกันอย่างไร เพราะเครือซีพีใหญ่และขยายเร็วมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ในบริบทที่องค์กรมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ให้ไปด้วยกัน เป็นหน้าที่ของพวกเรา ที่จะต้องทำไปด้วยกัน ทำอย่างไรที่จะรักษาปรัชญาที่ดีงามที่มีอยู่ สื่อสารให้ทั่วองค์กรได้รับทราบและปฏิบัติตาม โดยผ่านค่านิยมขององค์กร ไปพร้อมๆกับการต้องติดตามให้ทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์ โดยสร้างนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ระบบเข้ามาช่วยกำกับดูแล เมื่อมีระบบที่ดีจะช่วยให้การหลบเลี่ยงการปฏิบัติเหล่านั้น ลดน้อยลง จึงเป็นที่มาของกระบวนการ Ethisphere คือการสร้างให้มีระบบมาเป็นตัววัดให้เรา”
คุณพัชรีกล่าวต่อว่า “แต่เหนืออื่นใดคือกรอบความคิดของคน ที่เราเรียกว่า mindset คนหลายแสนคนที่จะขับเคลื่อน mindset เดียวกัน ขับเคลื่อนไปพร้อมกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของเครือซีพี ว่าทำอย่างไรให้องค์กรซีพี ในอีกสิบปีข้างหน้า จะเป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับของโลกว่ามี Ethics & Compliance โดยมาจากพนักงานทุกคนช่วยกันทำ เพื่อเป็นองค์กรที่เก่งและดี”
ในอีกด้านที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือการบริหารความเสี่ยงในเรื่องจริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ “Ethics & Compliance Risk” หนึ่งในความเสี่ยงคือ Governance อาจจะกล่าวได้ว่าความเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลที่ดี หรือการกำกับดูแลที่ดีเป็นความเสี่ยงหนึ่งก็ได้ แล้วแต่มองมุมไหน เป็นไก่กับไข่ แต่องค์กรต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งเครือซีพีมี 8 ด้านโดยเอาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมารวมด้วยเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ชี้วัดของ Ethisphere
“เราพยายามอ้างอิงเกี่ยวกับมาตรฐานของโลก เราไปดูว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีขององค์กรชั้นนำของโลก เขาทำอย่างไร โลกเขาไปถึงไหน เขาเป็นอย่างไร และเราจะยกระดับการบริหารงาน การดำเนินงานของเราให้เป็นแบบนั้นได้อย่างไร ไม่ว่าเรื่องความปลอดภัย การบริหารจัดการความเสี่ยง เป็นต้น เพราะการเป็นองค์กรชั้นนำของโลก ย่อมเป็นความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย คาดหวังว่าคนของคุณต้องมีการจัดการที่ดี คนของคุณต้องมีวินัย มีคุณธรรม เพราะฉะนั้น Ethics & Compliance จึงเป็นเหมือนกรอบ ที่เครือซีพีต้องทำมากกว่ากรอบ แต่อย่างน้อยที่สุดมันมีกรอบอยู่”
“กฏเกณฑ์ภายในองค์กรไม่ว่าจะเป็นนโยบายระดับบริหารในแต่ละองค์กร ไปถึงกระบวนการทำงาน เป็นสิ่งที่พนักงานล้วนต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้กฏหมายของแต่ละประเทศที่เครือซีพีเข้าไปทำธุรกิจ มีทั้งกฏระเบียบ ข้อกำหนด รวมไปใบอนุญาตประกอบกิจการ เช่น การทำธุรกิจในประเทศจีน ถ้าจะเปิดโรงงานได้ต้องมีระบบดับเพลิงที่ได้มาตรฐานของจีน หรืออาคารสูงต้องมีกฏเกณฑ์อะไรบ้าง ต้องปฏิบัติตามกฏหมายในประเทศนั้นๆ บางเรื่องหากมาตรฐานของเครือซีพีสูงกว่า เราให้เดินมาตรฐานเครือ หรือการเซ็นต์เอ็มโอยู เราต้องทำตามข้อกำหนดในสัญญา เราต้องเดินตามกติกาต่างๆอย่างเคร่ดครัด”
ทั้งหมดนี้คือกฏเกณฑ์สำหรับเครือซีพีที่ต้องปฏิบัติตาม
กลยุทธ์สู่การเป็นองค์กรชั้นนำของโลก
คุณพัชรีกล่าวต่อว่าเพื่อให้ไปสู่แนวปฏิบัติที่เป็นสากล มีการจัดทำ Compliance Management Ecosystem หรือระบบนิเวศของการบริหารจัดการการปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ อาทิ ระบบนิเวศได้แก่ คุณมี Governance structure ไหม คุณมีคนรับผิดชอบไหม
“ตามนโยบายของคุณศุภชัย มีการตั้งหน่วยงาน Compliance ที่ดูแลทั้งเครือซีพีในปี 2019 ขับเคลื่อนทุก ๆ กลุ่มธุรกิจ ระบุชัดเจนว่าบทบาทรับผิดชอบมีอะไรบ้าง สายงานในการรายงาน สร้างเน็ตเวิร์คทั่วโลก โดยมีนโยบาย มาตรฐานกระบวนการ ตั้งแต่การวิเคราะห์ว่าคุณมีความเสี่ยงอะไร ความเสี่ยงนั้นมีผลกระทบแค่ไหน หากเกิดขึ้นจะมีผลกระทบอย่างไร ระดับไหน มีแผนลดความเสี่ยงอย่างไรที่ยอมรับได้ อาจจะไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงได้ทั้งหมด แต่จะควบคุมได้อย่างไร และจะมีระบบมอนิเตอร์ ติดตามแก้ไขอย่างไรทุกไตรมาส เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง นี่คือกระบวนการปฏิบัติ
นอกจากนี้ยังมีโมเดลที่ศึกษาจากทั่วโลกและนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของเครือ เพื่อใช้วัดประสิทธิผลของการกำกับดูแล ว่าองค์กรทำได้ดีขนาดไหน เรียกว่า Compliance Maturity Model ซึ่งมี 5 ระดับ (ดูภาพประกอบ)
คุณพัชรีอธิบายเพิ่มเติมว่าจากภาพมีการกำหนดผลสำเร็จในแต่ละปี อาทิ ระดับสีเหลือง Competence แม้กฎหมายกฏระเบียบไม่ได้บังคับ บริษัทไม่ได้บังคับ แต่ผู้บริหารเห็นถึงความสำคัญ เพราะเห็นว่าสิ่งนี้ควรทำ เป็นคุณค่าขององค์กร เป็นคุณค่าของผู้บริหารต้องทำ ไม่ใช่แค่สร้างรายได้ สร้างกำไรเท่านั้น
ระดับสีเขียว Collaboration เป็นการขยายผลนำคนอื่น ให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคู่ค้า ซัพพลายเชน หรือผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แชร์ข้อมูลประสบการณ์ คิดเผื่อคนอื่น คิดไปในอนาคต อย่างกรณีปลาป่น แม้เราจะอยู่ปลายน้ำในฐานะผู้ซื้อแต่กระทบมากมาย เครือซีพีลงไปทำเป็นโมเดลพัฒนาทั้งอุตสาหกรรม ทำมากกว่าที่อุตสาหกรรมต้องทำ เพื่อให้เดินหน้าต่อได้ เป็นต้น
ระดับสีน้ำเงิน เป้าหมายที่ทำจนกระทั่งเป็นการสร้างจิตสำนึกของพนักงานทั้งองค์กร ว่าทำแบบนี้ผิดไหม เช่น มีคนเอาของมาให้จะปฏิเสธอย่างไรให้นุ่นนวล มีจริยธรรมคุณธรรมในขั้นสูง จนเป็นความเคยชิน กระทั่งทุกคนเป็นแบบอย่าง กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร
“ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีส้ม บางองค์กรส่วนใหญ่อยู่สีเหลือง ในกระบวนการดำเนินการ เราไม่เพียงดำเนินตามปกติ แต่เราต้องวิ่งไล่ตามและไปดักหน้า อีก 3 ปีจากนี้จะให้อยู่ระดับสีเขียว และปี 2030 เราจะไประดับโลก เมื่อใครมองมาที่เครือซีพีจะเห็นองค์กรที่มีคนเก่งและคนดีซึ่งจะทำให้ธุรกิจของเครือเติบโตอย่างยั่งยืน”
นี่คือนโยบายและวิสัยทัศน์ด้าน Ethics & Compliance เป็น Milestone ที่เคลื่อนไปทั้งเครือซีพี
ที่มา : วารสาร CG Voice Issue 04