คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพี ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมขึ้นเวทีระดมความคิดเห็นในประเด็น “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” ซึ่งจัดขึ้นโดยหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสะท้อนมุมมองข้อเสนอจากภาคธุรกิจต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่อยากเห็นในนโยบายพรรคการเมือง โดยมีผู้บริหารภาคเอกชน และตัวแทนพรรคการเมือง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างคับคั่ง อาทิ คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์
โดยคุณศุภชัยได้แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “Digital Transformation และการศึกษาไทย” หนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ภาคธุรกิจอยากเห็นในนโยบายพรรคการเมืองว่า ปัจจุบันนี้ความสามารถแข่งขันของไทยอยู่อันดับ 40 ของโลก โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารอยู่อันดับ 15 ดังนั้นเรื่องที่ต้องผลักดันอย่างเร่งด่วนคือ การปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) ด้วยการนำเทคโนโลยี Digital มาใช้ เป็นการเพิ่มโอกาสเข้าถึงความรู้ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
“ประเทศที่มีศักยภาพ สิ่งสำคัญคือการปลดล็อคศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ ถ้าเราอยากเปลี่ยนอนาคตของประเทศ เราต้องเปลี่ยนที่เยาวชน เพราะพวกเขาคือคนที่จะเปลี่ยนอนาคตของประเทศ ดังนั้นถ้าเราหวังเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ควรปฏิรูปการศึกษาของไทยจาก 2.0 เป็น 5.0 จากครูเป็นศูนย์กลางของความรู้ ปรับให้เด็กเป็นศูนย์การในการเรียนรู้ สร้าง Extra curriculum ต้องเริ่มให้เด็กมีความสนใจในการเรียนรู้การสื่อสารและการศึกษาให้มากขึ้น ดังนั้นวิทยาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลควรเข้าไปเป็นวิชาหลักในระบบการศึกษา เด็ก 7 ล้านคนในระบบการศึกษาไม่มีคอมพิวเตอร์ ทำอย่างไรให้เด็กเข้าถึงการค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรม”
นอกจากนี้ ความท้าทายโลกปัจจุบันมี 4 เรื่องหลักคือ 1. ความเหลื่อมล้ำ 2. Digital Transformation 3. Climate Change 4. Multi Polar โดยความท้าทายทั้งหมดนี้โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ถูกขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาจต้องมีการวัดกันที่ความสามารถในการใช้ Technology เพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศ รับมือกับ Digital Transformation พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัล ด้วยการ 1. ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย 2. การพัฒนา Future Workforce โดยผู้นำแต่ละอุตสาหกรรมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงทักษะ และสนับสนุนให้มีการ Learning by Doing 3. การสร้างความแข็งแกร่ง ทางการเกษตรเพื่อมุ่งสู่การเป็น Food Security Hub จะต้องทำ Digital Transformation ด้านการเกษตร 4. สร้างให้เกิด Digital Transformation ในภาคธุรกิจอย่างกว้างขวางทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) อาทิ การสร้าง Soft Power สินค้าไทยที่สามารถส่งขายได้ทั่วโลกและ 5. ปฏิรูปภาครัฐสู่ดิจิทัล โดยต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาครัฐ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพกลับสู่ระบบราชการ
โดยทางหอการค้าไทยได้ทำการสรุปประเด็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากความเห็นของภาคธุรกิจเป็นสมุดปกขาว ส่งต่อตัวแทนพรรคการเมืองให้รัฐบาลใหม่ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำเป็นมาตรการและนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนต่อไป