เครือเจริญโภคภัณฑ์ พัฒนาพื้นที่ภาคเหนือต่อเนื่อง ผนึกกำลังทุกภาคส่วนปกป้องฟื้นฟูป่าต้นน้ำปิง วัง ยม น่าน ร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ตลอดมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติทั้งการร่วมขับเคลื่อนพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ควบคู่กับการมุ่งดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และมุ่งสู่การลดขยะเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero)ภายในปี 2050

จากปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือที่เผชิญกับความท้าทายเรื่องการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ และปัญหาหมอกควันไฟป่าในฤดูร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่พบจุดความร้อน (Hotspot) และหมอกควันมากที่สุด ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าลดหมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้น

เครือซีพี จึงได้เข้าไปขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2559 – ปัจจุบัน ในพื้นที่ 4 ต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ในการพลิกฟื้นป่า แก้ปัญหาภูเขาหัวโล้น หมอกควันไฟป่า ส่งเสริมปลูกกาแฟทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยในพื้นที่ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพราะต้องอาศัยน้ำในช่วงฤดูฝนชาวบ้านอยากปรับเปลี่ยนอาชีพเเต่ไม่รู้จะทำอะไรจึงเป็นโจทย์ที่ท้าท้ายของเครือซีพี ที่ต้องสร้างอาชีพควบคู่กับการฟื้นฟูป่าได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วนสนับสนุนเกษตรกรปลูก “กาแฟ” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูง เหมาะสมกับพื้นที่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ นอกจากนั้น ต่อยอดเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชน

โดยนำร่องเข้าไปพัฒนาในพื้นที่หมู่บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผ่า จ.น่าน ต้นแบบฟื้นป่าภาคเหนือที่นำร่องสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ในการปรับเปลี่ยนวิถีจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่การปลูกกาแฟสร้างป่า สร้างรายได้ ปัจจุบันสามารถฟื้นฟูผืนป่ากลับมาได้กว่า 2,100 ไร่ เกิดวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น สนับสนุนโรงแปรรูปกาแฟ และมีแบรนด์กาแฟบ้านสบขุ่น ภายใต้การเรียนรู้การจัดการอย่างเป็นระบบมุ่งสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) และกำลังผลักดันสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต นอกจากนี้เครือฯ ยังให้ความสำคัญด้านการลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร สนับสนุนการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนใน ‘โครงการปุ๋ยอินทรีย์บ้านดอนไชยป่าแขม’ ต.ออย อ.ปง .พะเยา ด้วยแนวคิดการลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยและหันมากำจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรแบบระบบหมุนเวียน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้แล้วกว่า 62,975 กิโลกรัม อีกทั้งเครือฯ ยังคงมุ่งมั่นผลักดันธุรกิจชุมชนสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านเลาสู’ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง จากชาวบ้านเมี่ยนและอาข่าที่ปลูกกาแฟเป็นทุนเดิม สู่การพัฒนาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง พร้อมใจขับเคลื่อนปลูกกาแฟเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ

การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคการศึกษา ฯลฯ เครือซีพีจึงได้ก่อตั้ง สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ขึ้น ณ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เพื่อร่วมสร้างสรรค์คุณค่า สู่การพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างสมดุลให้เมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

นอกจากนี้ พื้นที่ที่พบหมอกควันไฟป่ามากที่สุด และต้องเร่งเข้าไปดำเนินงาน คือ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยนำร่องที่ชุมชนบ้านกองกาย อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ใช้โมเดล “กาแฟสร้างป่า” ที่ขยายต่อยอดจากพื้นที่บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา จ.น่าน ผ่านโครงการ “ศูนย์วิจัยกาแฟชุมชนบ้านกองกาย” เเละขยายผลไปชุมชนใกล้เคียงบ้านเเม่วาก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยมีเป้าหมายหลักคือการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม โดยตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี ที่เครือซีพี เข้าไปขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ กรมป่าไม้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม สถาบันอ้อผะหญา มูลนิธิไทยรักษ์ป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และชุมชนในเครือข่าย “แม่แจ่มโมเดล” ในการส่งเสริมองค์ความรู้ตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในการปลูกกาแฟสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเกิดเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ตอบโจทย์อาชีพทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ เครือซีพียังสนับสนุนการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เเละพืชมูลค่าสูง ที่สร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 4 ต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน อย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งไม้ป่าและไม้สี อาทิ พยุง จามจุรี ยางนา สัก ไผ่ พญาเสือโคร่ง ราชพฤกษ์ ไม้ผลเมืองหนาว อาทิ แมคคาเดเมีย พลับ อะโวคาโด กล้วย รวมถึงพืชมูลค่าสูงอย่างกาแฟ และต่อยอดพัฒนาสู่โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Less) โดยได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้ จำนวน 10,688.153 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) จากแผนงานที่เครือซีพีเข้าไปขับเคลื่อนในพื้นที่โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคการเกษตร โดยปรับเปลี่ยนแนวทางการปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เครือซีพี ดำเนินงานควบคู่ไปกับการสนับสนุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ในการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าอย่างต่อเนื่อง อาทิ สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือดับไฟป่าแก่เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ ศูนย์บัญชาการควบคุมไฟป่า (ส่วนหน้า) ภาคเหนือ กรมป่าไม้ และ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าภาคเหนือ สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนภารกิจการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า พร้อมทั้ง การสร้างความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกชองชุมชนให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ โดยเครือซีพี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตปัญหาหมอกควันไฟป่าได้อย่างยั่งยืน