จากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้พฤติกรรมของคนไทยต้องปรับเปลี่ยนไปซึ่งบางอย่างกลายเป็น New Normal หรือความปกติใหม่ “การสร้างสรรค์สิ่งใหม่” ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นสิ่งสำคัญ บรรยากาศการส่งผลงานของเหล่านวัตกรจากกลุ่มธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงาน “มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021” โดยในปีนี้มีการส่งผลงานนวัตกรรมในด้านเทคโนโลยีเข้ามามากที่สุด รองลงมาคือด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามลำดับ
We are CP ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณจิ๋ว-วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย” ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม สังกัดกลุ่มทรู และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวิชาการมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 ด้วยประสบการณ์การทำงานที่กลุ่มทรูมากว่า 15 ปีนับตั้งแต่ปี 2548 ด้วยการเข้ามาเรียนรู้งานในด้านธุรกิจ Data Center จึงได้มีโอกาสคิดงานนวัตกรรมส่งประกวดภายในของกลุ่มทรูในเวที True Innovation Award มาโดยตลอด และได้มีโอกาสเข้าร่วมชมงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบานตั้งแต่ปี 2554 จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้ามาร่วมงานกับหน่วยงาน Innovation เพื่อช่วยผลักดันผลงานนวัตกรรมของเพื่อนนวัตกรกลุ่มทรู
นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเป็นตัวแทนกรรมการในคณะกรรมการตัดสินผลงานเวทีในกลุ่มธุรกิจเครือซีพี และในปีนี้ยังได้รับโอกาสเป็นตัวแทนกลุ่มทรู เพื่อเป็นกรรมการวิชาการอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้การสร้างสรรค์นวัตกรรมในกลุ่มบริษัทของเครือฯ จากการได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกับเพื่อนเหล่านวัตกรและทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา หนึ่งในแนวคิดที่ควรมีการแลกเปลี่ยนมุมมองขณะนี้คือ นวัตกรรมที่สอดคล้องกับความปกติใหม่หรือ New Normal จากสถานการณ์โควิด 19
“ผมคิดว่าการได้คิดงานนวัตกรรม เหมือนเราได้ปลดปล่อยความคิด พร้อมสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและองค์กร การได้มาเป็นกรรมการวิชาการอีกครั้งในปีนี้ รู้สึกขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจในการเป็นตัวแทนของกลุ่มทรูที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2021 ครั้งนี้”
คุณวีรศักดิ์ กล่าวว่า มหกรรมนวัตกรรมบัวบานเป็นเวทีที่มีการแข่งขันด้านนวัตกรรมที่เข้มข้นเวทีหนึ่ง หรือเรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่ของเครือฯ อีกทั้งตัวแทนกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ภายในเครือฯ ซึ่งมีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย มีองค์ความรู้และมากด้วยประสบการณ์ การได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและความภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะได้มีโอกาสเรียนรู้ พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับกรรมการท่านอื่น ๆ นอกจากนี้ในฐานะของกรรมการได้มีโอกาสให้คำแนะนำกับนวัตกรในแต่ละรุ่น เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรม การเติบโตและความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์ให้สังคมและองค์กรซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับใจเป็นอย่างมาก
กรรมการวิชาการ เผยว่าสำหรับเกณฑ์การพิจารณาผลงานปีนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาผลงาน และ ประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งพิจารณาในด้านเศรษฐกิจ เน้นความคุ้มค่าการลงทุน ด้านเทคโนโลยี เน้นวิธีการและทฤษฎีที่ใช้รวมถึงการพัฒนา ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นผลลัพธ์คุณค่าทางสังคม ซึ่งโดยรวมจะคล้ายคลึงจากปีก่อนแต่จะมีรายละเอียดและวิธีการที่ชัดเจนมากขึ้น
คุณวีรศักดิ์ ได้ยกตัวอย่าง ผลงานนวัตกรรมของกลุ่มทรู ซึ่งเป็นผลงานอุปกรณ์ควบคุมแหล่งจ่ายไฟให้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยนวัตกรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลงานนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ความโดดเด่นของผลงานนี้คือ สามารถช่วยให้การทำงานของโครงข่ายเสถียรมากขึ้น อีกทั้งถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์บริการโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปีนี้มีผลงานจากหลากหลายหน่วยงานภายใต้กลุ่มทรู ได้นำระบบดิจิตอลเข้ามาสนับสนุนพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น และทำให้เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่สร้างผลตอบแทนให้กับองค์กรได้
ทั้งนี้ คุณวีรศักดิ์ ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจในฐานะรุ่นพี่ให้กับเพื่อนเหล่านวัตกรของเครือซีพีที่ได้ส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่สร้างภาคภูมิใจที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในวาระครบรอบ 100 ปีซีพี เพราะฉะนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่นวัตกรทุกท่านได้ปล่อยพลังสร้างสรรค์ในตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างผลงานนวัตกรรมที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง