ก้าวไปอีกขั้น ซีพี นำระบบตรวจสอบย้อนกลับยกระดับมาตรฐานเกษตรกรรมยั่งยืนในเมียนมา เปิดกว้างให้คู่ค้า ผู้ผลิตร่วมใช้

ซีพี จับมือ “เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส (CPP) กรุงเทพโปรดิ๊วส (BKP)ประกาศความร่วมมือกับ  “สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา หรือ MCIA”  นำร่องเปิดระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ทุกภาคส่วน ผู้ผลิต คู่ค้า ฯลฯ ร่วมใช้  ยกระดับความยั่งยืนและโปร่งใสในอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีระดับโลก ตอกย้ำนโยบาย “ไม่รับซื้อ และไม่นำเข้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากพื้นที่รุกป่า และพื้นที่ที่มาจากการเผา”

กรุงย่างกุ้ง, ประเทศเมียนมา – (24 ตุลาคม 2567)  – เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดย เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส (CPP) และ กรุงเทพโปรดิ๊วส (BKP)  ร่วมกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชนในเมียนมา ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญในการเปิดระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของซีพีให้ทุกภาคส่วน ทั้ง ผู้ผลิต คู่ค้าและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถร่วมใช้ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน  ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา ทั้งนี้โดยจัดให้มีการแถลงความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา โดยไม่รับซื้อจากพื้นที่ที่มีการเผาและพื้นที่ป่าดั้งเดิม  โดยการแถลงความร่วมมือนี้จัดขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมา ภายใต้โครงการยกระดับการตรวจสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา โดยมี คุณมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์  เอกอัครราชทูตไทยประจำ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา  คุณเอกวัตน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา  อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงย่างกุ้ง คุณฐิติ ลุจินตานนท์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ คุณวรสิทธิ์ สิทธิวิชัย ประธานคณะผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจพืชครบวงจร เขตประเทศเมียนมา  และ คุณอู เอ ชาน อ่อง (U Aye Chan Aung) ประธานสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา Myanmar corn industrial association (MCIA) พร้อมด้วยเกษตรกรชาวเมียนมาในหลายพื้นที่ อาทิ หน่องตะยา รัฐฉาน มัณฑะเลย์ ฯลฯ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งในไทยและเมียนมาร่วมกันแสดงเจตจำนงค์ในการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สร้างความโปร่งใสและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา

คุณมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง เปิดเผยว่า ความร่วมมือในโครงการยกระดับการตรวจสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาถือเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ฟ้าใสของรัฐบาลไทย เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนและ PM2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า การนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ถือเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในด้านการปกป้องระบบนิเวศบนบกและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมุ่งมั่นนี้สอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลในการสร้างความยั่งยืนในภูมิภาคอีกด้วย ทั้งยังสะท้อนถึงความตั้งใจในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและส่งเสริมความยั่งยืนในภูมิภาคอย่างแท้จริง

ขณะที่ คุณเอกวัตน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงย่างกุ้ง กล่าวโดยสรุปว่า ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมียนมามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความโปร่งใสและความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน โดยจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและฝุ่น PM 2.5 ผ่านการส่งเสริมการเพาะปลูกที่ไม่ใช้วิธีการเผา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทย เมียนมา และอาเซียน อีกทั้งยังสอดรับกับแนวโน้มสากลด้านการซื้อขาย Carbon Credit และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระบบนี้ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและพันธมิตรทางการค้า และการที่ซีพีขยายการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับในวงกว้างสู่สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดไทย(MCIA)หรือผู้ประกอบการรายอื่นทั้งในเมียนมาและไทย จะเป็นประโยชน์มากขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมสร้างการค้าระหว่างไทยและเมียนมาให้มั่นคงขึ้น โดยสถิติการนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาในปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 1.7 ล้านตัน คิดเป็น 88% ของการนำเข้าทั้งหมด และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 17,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ คุณฐิติ ลุจินตานนท์  ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ เพื่อสร้างความชัดเจน โปร่งใส และเป็นสากล สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมาสู่ความเป็นสากล ระบบต้องกล่าวต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา หรือ MCIA ตลอดจนผู้ค้าธุรกิจและเกษตรกรชาวเมียนมา เราจึงเปิดระบบนี้ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยั่งยืนของเมียนมาด้วยชาวเมียนมาเอง ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่กลุ่มบริษัทซีพีได้พัฒนาขึ้นและได้ขยายผลสู่ความร่วมมือในประเทศเมียนมา

ในส่วนของ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส หรือ CPP ซึ่งเป็นผู้นำด้านการเพาะปลูก คุณวรสิทธิ์ สิทธิวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เขตประเทศเมียนมา ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ CPP ในการส่งเสริมการเพาะปลูกที่ยั่งยืน โดยกล่าวว่า “CPP มุ่งมั่นในการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ไม่เพียงช่วยให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพดได้ แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนเกษตรกรให้เข้าถึงเทคโนโลยีและวิธีการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมมือกับ BKP เพื่อบูรณาการระบบนี้ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด ทำให้เกษตรกรและพ่อค้าผู้รวบรวมข้าวโพดสามารถเชื่อมต่อกับตลาดในไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ CPP บริษัทในกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Control Union ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกด้านการตรวจสอบมาตรฐานความยั่งยืน โดย CPP และ BKP ได้รับการรับรองด้านการทวนสอบระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต และ CPP ยังได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการเพาะปลูกยั่งยืนในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เมียนมา ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างมาตรฐานสูงสุดในด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ยืนยันถึงประสิทธิภาพของระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ CPP และ BKP พร้อมที่จะขยายการใช้ระบบนี้ให้ผู้ผลิต คู่ค้า ฯลฯ ร่วมใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรในระดับภูมิภาคให้มีความยั่งยืนและโปร่งใสต่อไปในอนาคต

ระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพี ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้ง ผู้ผลิต คู่ค้า เกษตรกร และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้ามาร่วมใช้ได้  เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีในการติดตามและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งบริษัทได้พัฒนาขึ้นเองตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยี Blockchain และแผนที่ภาพถ่ายรวมถึงเทคโนโลยีตรวจจับจุดความร้อนจากดาวเทียม เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลทุกขั้นตอนตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการส่งออก ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถมั่นใจได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาจากแหล่งที่มาที่ปลอดภัย ไม่ได้มาจากพื้นที่ป่าดั้งเดิม (มาตรฐาน GEUDR 2020) หรือพื้นที่ที่มีการเผาในแปลงข้าวโพด

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม โดย MCIA (สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา) จะทำหน้าที่สนับสนุนและผลักดันให้สมาชิกที่เป็นพ่อค้าผู้รวบรวมและผู้ส่งออกข้าวโพดเข้ามามีส่วนร่วมในระบบนี้ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการซื้อขายจากพ่อค้าและเกษตรกรเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในแหล่งที่มาของวัตถุดิบข้าวโพดและยกระดับมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน

คุณอู เอ ชาน อ่อง (U Aye Chan Aung) ประธาน MCIA กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นว่าการเปิดระบบนี้จะสร้างโอกาสที่ดีที่จะสามารถแสดงความโปร่งใสของแหล่งที่มาของข้าวโพดที่จัดหามาให้ผู้ซื้อได้อย่างชัดเจน และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ MCIA พร้อมที่จะผลักดันให้สมาชิกของเราร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเกษตรกรให้เข้าร่วมระบบนี้”

นอกจากนี้ คุณคุณทุน ชเว (Khun Tun Shwe) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเมืองตองยี รัฐฉาน ยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในการเข้าร่วมระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยกล่าวว่า “การเข้าร่วมระบบนี้ไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด บริษัทได้ให้คำแนะนำและเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถเพาะปลูกได้ตามมาตรฐานที่ยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยให้ชุมชนของเรามีรายได้ที่มั่นคงขึ้นเพราะมีตลาดที่ชัดเจนรองรับ”

การแถลงความร่วมมือครั้งนี้ในโครงการยกระดับการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาฯได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานตรวจประเมินระบบในระดับสากล ซึ่งการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสและเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมนี้ ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างความยั่งยืนและความน่าเชื่อถือในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเมียนมา และเป็นแบบอย่างให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต