การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแค่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลต่อสังคมรอบข้างและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของทุกคนบนโลกนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะที่เป็นบริษัทที่การดำเนินธุรกิจอยู่ใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อ ‘พรุ่งนี้ที่กว่า’ ของรุ่นต่อไป ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน
ภาคเอกชนอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) โดยการนำของซีอีโอ ศุภชัย เจียรวนนท์ หนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำองค์กรยั่งยืนของโลก กล่าวว่า ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ได้มีเป้าหมายร่วมกันได้ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกมิติ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น การบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน การดูแลทรัพยากรน้ำ การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ภายในปี 2593
เครือซีพีตระหนักดีถึงความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายทั้งสอง จึงได้ทำการวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และร่วมสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม พร้อมกับการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่ทุกคนในสังคม เพื่อให้เกิดความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และใช้แหล่งทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพควบคู่กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน นี่คือหัวใจสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายของเครือซีพี
คุณสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของเครือซีพีในการเร่งผลักดันและขับเคลื่อนให้ไปถึงเป้าหมายการเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยระบุว่า เครือซีพีในฐานะบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลากหลายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอดห่วงโซ่คุณค่าได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อไปสู่เป้าหมายตามที่ตั้งไว้ผ่านการกำกับดูแลและติดตามจากคณะกรรมการบริหารความยั่งยืน โดยเครือซีพีได้เข้าร่วมกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อิงกับหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative) หรือ SBTi ซึ่งได้รับรองเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 ทั้งทางตรง (Scope 1) และทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2) ลงร้อยละ 42 ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร (Scope 3) ลงร้อยละ 25 สอดคล้องตามมาตรฐานสากลที่ SBTi กำหนด และได้มีการจัดทำบัญชีที่ครอบคลุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกขอบเขตอย่างถูกต้อง น่าเชื่อถือเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Scope 3) โดยสนับสนุนและร่วมมือกับคู่ค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่าของเครือฯ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด
คุณสมเจตนากล่าวต่ออีกว่า เครือซีพีได้มีการวางแนวทางสำคัญ 5 ด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 อันประกอบด้วย
- การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Energy) ด้วยการอนุรักษ์และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน
- การดำเนินงานที่ยั่งยืน (Sustainable Operation) ด้วยการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต ขนส่งและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ การลดของเสียไปสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ และการทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- เกษตรกรรมที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture) ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มผลผลิต ลดการปล่อยและเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากภาคเกษตรกรรม รวมถึงการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียนจากของเสียทางการเกษตร
- การจัดหาวัตถุดิบและการผลิตสินค้าและบริการที่ยั่งยืน (Sustainable Consumption) ด้วยการจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้า หรือการจัดหาสินค้าเพื่อจัดจำหน่าย จากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงการผลิตสินค้าและบริการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนของการใช้งาน
- การกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) ด้วยวิธีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากการปลูกและอนุรักษ์ต้นไม้ ป่าไม้ และวิธีการกับเก็บคาร์บอนทางวิศวกรรม
ปัจจุบันเครือซีพีมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 15% เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทั้งหมด โดยดำเนินการผ่านโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น เศษไม้สับ แกลบ กะลาปาล์ม และซังข้าวโพด คิดเป็นสัดส่วน 64% ของพลังงานทดแทนทั้งหมด การเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานชีวภาพจากมูลสุกรและน้ำเสียเพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์มและโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 13% การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ภายในฟาร์มและโรงงาน คิดเป็นสัดส่วน 11% และการสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดจากการซื้อใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) คิดเป็นสัดส่วน 12% ตามลำดับ
นอกจากนี้ เครือซีพีได้ออกแบบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้มีประสิทธิภาพ โดยได้มีการนำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น พร้อมพัฒนาศักยภาพของคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจในการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน
คุณสมเจตนา ยังกล่าวอีกว่า เครือซีพีได้รับผลการประเมินในระดับ A- ด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภายใต้กรอบการประเมินของสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือระดับโลก Carbon Disclosure Project (CDP) ประจำปี 2565 นับเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญและแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งได้มีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Charoen Pokphand Group’s Climate-Related Risk Management Report) ที่อ้างอิงจาก Task Force on Climate-Related Financial Disclosure: TCFD ในการวิเคราะห์การบริหารความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
ล่าสุด เครือซีพีในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนของเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก (Climate Action Leading Organization: CALO) ประเภทโดดเด่น จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่ถือว่าเป็นองค์กรที่แสดงความเป็นผู้นำในการจัดการและรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการประกาศเจตนารมณ์ มีเป้าหมายและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ถือเป็นก้าวที่สำคัญของการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างแท้จริง