มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขับเคลื่อนโครงการรักษาสมดุลระบบนิเวศ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

วันที่ 22 พฤษภาคม วันความหลากหลายทางชีวภาพ องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันสากลแห่งความหลากหลายทาง ชีวภาพ”

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้ตระหนักถึงความสำคัญความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

โดยมูลนิธิฯ ได้เข้าไปร่วมขับเคลื่อนโครงการด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า “กวางผา” และฟื้นฟูปกป้องพื้นที่ป่าไม้ผ่านโครงการ “อมก๋อยโมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่คู่ป่าต้นน้ำ จ.เชียงใหม่ โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ในการร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากผืนป่าอำเภออมก๋อย โดยกวางผาเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของไทยที่หายาก และมีประชากรเหลืออยู่ทางธรรมชาติน้อยมาก โดยเหลือเพียง 293 ตัว ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประชากรกวางผาอย่างมีประสิทธิภาพ โดย ปัจจุบันมี “กวางผา” ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยที่ได้รับการสนับสนุนการอนุบาลเลี้ยงดูจากมูลนิธิฯ ภายใต้แผนงานการอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) จำนวนทั้งสิ้น 83 ตัว และได้ร่วมปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติแล้ว จำนวน 8 ตัว นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังได้ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยได้ดูแลและปลูกต้นไม้ใหม่ไปแล้วกว่า 2,534 ไร่ อีกทั้งยังได้ขับเคลื่อนแผนงานด้านการศึกษา สร้างการตระหนักรู้ปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนบนพื้นที่สูงอยู่ร่วมกับป่าและสัตว์ป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน “สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” อีกด้วย

มูลนิธิฯ ยังมีแผนงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลายั่งยืน ปี 2566 – 2568 เพื่อปกป้องและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา อาชีพประมงพื้นบ้านยั่งยืน และการอนุรักษ์สัตว์ในทะเลสาบ โดยเล็งเห็นความสำคัญของทะเลสาบสงขลา ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เพราะถือเป็นทะเลสาบแบบลากูนแห่งเดียวของประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของ “ควายน้ำ” ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งเดียวของไทย โดยมีภูมิปัญญา “วิถีการเลี้ยงควายปลัก” ที่สืบทอดมากว่า 200 ปี ซึ่งมีระบบการเลี้ยงแบบปล่อยให้ควายหากินอย่างอิสระในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ถือเป็นการทำหน้าที่ในระบบนิเวศ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเก็บน้ำและแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ “ควายน้ำ” ยังได้ขึ้นทะเบียนว่าเป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” อีกด้วย

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญดังที่กล่าวมาข้างต้น มูลนิธิฯ จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ “ปรับปรุงภูมิทัศน์คอกควายในพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนารูปแบบคอกควายที่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ และเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำ นอกจากนี้ยังได้ผนึกกำลัง สนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาวัชพืช จอกแหนหูหนูยักษ์ ร่วมกับคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยนำร่องต่อยอดงานวิจัยในการนำ “จอกแหนหูหนูยักษ์” นำมาทำ “ปุ๋ยหมัก” ที่นอกจากสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแหล่งอาหารของควายน้ำแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการทำเกษตรกรรม และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.พัทลุง อีกด้วย

ถือเป็นบทบาทสำคัญของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ ทั้งหลายในการแก้ไขปัญหา ปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า เพื่อเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ อันแสดงให้เห็นว่าคนกับระบบนิเวศ สามารถอยู่ร่วมกันได้ผ่านการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน