นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธี ส่งมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ที่เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCC ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 36 หนุนโภชนาการที่ดี สร้างคลังอาหารในโรงเรียน-ชุมชน มุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เยาวชน ปูพื้นฐานอาชีพนำองค์ความรู้ไปใช้ในอนาคต โดยมี นายโคโซ โท รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น และประธานส่วนการศึกษา คณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ นายวราราชย์ เรืองศรี ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ผู้แทนรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ร่วมส่งมอบ ณ โรงเรียนบ้านนาคำ (โพนสวรรค์) อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า รู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งที่ JCC ให้ความสำคัญในการส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีแก่เด็กและเยาวชนไทย ด้วยการสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โดยโครงการฯ นี้เป็นตัวอย่างของการบูรณาการงานร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมี มูลนิธิฯ เป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโรงเรียนทั้ง 4 แห่งในพื้นที่จังหวัดนครพนม ที่ได้รับโอกาสนี้ จะดำเนินโครงการด้วยความตั้งใจ บริหารจัดการไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน และขอขอบคุณ JCC มูลนิธิฯ และซีพีเอฟ ที่เดินหน้าโครงการฯ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักเรียน โรงเรียน และชุมชน
ด้าน นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิฯ และซีพีเอฟ ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ก้าวเข้าสู่ปีที่ 36 โดยในปี 2543 มูลนิธิฯผนึกกำลังกับ JCC ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุนโครงการฯ จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 24 ปี โดยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงโภชนาการที่ดี ให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และชุมชนในถิ่นทุรกันดาร สำหรับปีนี้ JCC สนับสนุนงบประมาณให้กับโครงการฯ จำนวน 4 โรงเรียนในจังหวัดนครพนม ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านนาคำ (โพนสวรรค์) โรงเรียนบ้านนาเต่า และโรงเรียนบ้านค้อ ต.บ้านค้อ อ.โพนสวรรค์ และโรงเรียนพระซองวิทยาคาร ต.พระซอง อ.นาแก
ส่วน นายวราราชย์ เรืองศรี กล่าวว่า ซีพีเอฟ ร่วมสนับสนุนมูลนิธิ ทั้งงบประมาณและบุคลากร อย่างเต็มกำลัง ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปติดตาม ดูแล ให้คำแนะนำต้านการเลี้ยงไก่ไข่ และการจัดการผลผลิตไข่ไก่สด แก่ครูและนักรียนในโรงเรียนที่ร่วมโครงการฯอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถบริหารโครงการได้ด้วยตนเอง เพื่อส่งเสริมสุขภาพของเด็กเยาวชนไทย ที่เป็นอนาคตของประเทศ จากการบริโภคไข่ไก่อาหารโปรตีนคุณภาพดีอย่างเพียงพอ อิ่มท้อง สมองแจ่มใส และหวังว่าโรงเรียนจะสามารถดำเนินการบริหารจัดการสู่ความสำร็จอย่างยั่งยืน เป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
ทางด้าน นายโคโซ โท รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ กล่าวว่า JCC ตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการในเด็กวัยเรียน และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้สนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งผ่านความช่วยเหลือและส่งเสริมในด้านอาหารและโภชนาการ แก่เด็กและเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล ด้วยการสนับสนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้างโรงเรือน การติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์ไก่ไข่ อาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ในการเลี้ยงไก่ไข่รุ่นแรก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ครู ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพดี ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ภายใต้ความร่วมมือของ JCC รวม 146 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยนำรายได้จากการเลี้ยงไก่ไข่รุ่นที่ 1 มาเป็นกองทุนบริหารจัดการในรุ่นต่อไป ส่งผลให้สามารถขยายผลสู่กิจกรรมอื่นๆ เกิดการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน
นางวิภาวณี บุญศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาคำ กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชน ให้พวกเขาได้เข้าถึงโปรตีนที่ดี ช่วยบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ที่จะกลายเป็นพื้นฐานอาชีพให้กับเด็กๆอย่างเป็นรูปธรรม และยังภูมิใจว่าพวกเขาคือคนสร้างคลังอาหารที่มั่นคงให้กับทั้งเพื่อนนักเรียนและชุมชน ได้รับประทานไข่สดใหม่ทุกวัน ทำให้โรงเรียนกลายเป็นแหล่งอาหารของชุมชน
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” เป็นความร่วมมือของ เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และซีพีเอฟ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2532 โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตาม “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” มาดำเนินการสานต่อ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร ได้บริโภคไข่ไก่อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างโภชนาการที่ดี และการเติบโตสมวัย ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ 959 โรงเรียนทั่วประเทศ มีนักเรียนกว่า 180,000 คน คุณครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 1,300 คน ตลอดจนชุมชน ได้เรียนรู้ทักษะการเลี้ยงไก่ไข่ การจัดการบริหารฟาร์มขนาดเล็ก และประยุกต์กิจกรรมสู่การเรียนการสอน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญด้านการจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู นักเรียน ได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจเกษตร สามารถบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่จำหน่ายให้แก่ชุมชน ทำให้ได้บริโภคไข่ไก่สดในราคาที่เหมาะสม สร้างรายได้หมุนเวียน ต่อยอดขยายผล เกิดเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน