เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จับมือหน่วยงานวิชาการ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ สนับสนุนงานวิจัยการสร้างปลาและศึกษาความหลากหลายของสัตว์น้ำและคุณภาพน้ำ ในพื้นที่บริเวณจุดที่สร้างบ้านปลา ณทะเลสาบสงขลา เพื่อศึกษาการอาศัยอยู่ของสัตว์น้ำ และความสามารถในการเพิ่มจำนวนประชากรสัตว์น้ำ ให้ทะเลสาบสงขลาได้รับการฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลายหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งยังทำให้ชุมชนมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์
คุณกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า จากปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ และขาดการบริหารจัดการ ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาลดลง มูลนิธิฯ จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรในทะเลสาบสงขลา โดยที่ผ่านมามูลนิธิฯ เข้าไปดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในการพัฒนาอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ต.ปากรอ
โดยในปีนี้ ขยายพื้นที่พัฒนา “ทะเลสาบสงขลายั่งยืน” เนื่องจากเล็งเห็นปัญหาทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศจากทะเลสาบตื้นเขิน มีพื้นที่ป่าชายเลนลดลง รวมทั้งสัตว์น้ำมีจำนวนน้อยลงจากการทำประมงที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับการขาดมาตรการในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีสัตว์น้ำเศรษฐกิจมีจำนวนน้อยลงมาก อาทิ ปลาตะกรับ ปลามิหลัง ปลาดุกทะเล และ กุ้งก้ามกราม มีบางชนิดอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ อาทิ โลมาอิรวดี ปลาตุม ปลาพรมหัวเหม็น มูลนิธิฯ ส่งเสริมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน ใน 3 เป้าหมาย คือ ร่วมปกป้องและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา พัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้านยั่งยืน และการอนุรักษ์สัตว์ในทะเล โดยศึกษาผ่านงานวิชาการ ในการจัดทำงานวิจัยช่วงก่อนวางบ้านปลา และหลังวางบ้านปลา บริเวณวัดป่าขาด และบริเวณบ้านบางไหน อ.สิงหนคร จ.สงขลา เพื่อศึกษาพฤติกรรมของสัตว์น้ำในการเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านปลา ให้สามารถเป็นที่ซ่อนตัว เป็นที่ขยายพันธุ์ และเป็นแหล่งอาหารของลูกปลา เป็นที่อยู่อาศัย เพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ
ซึ่งผลสำรวจในบริเวณที่สร้างบ้านปลาจากงานวิจัยดังกล่าวฯ ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่าก่อนสร้างบ้านปลาจะมีปริมาณปลาที่จับได้ และความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำน้อยมาก ทั้งนี้ผลการวิจัยหลังการสร้างบ้านปลา ทางวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อยู่ในระหว่างรวบรวมข้อมูล ตัวชี้วัด ประเภทปลา ปริมาณปลา คุณภาพน้ำ และประมาณการตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอในเร็วๆนี้ โดยมูลนิธิฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างบ้านปลาจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง และทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นแหล่งอาชีพและแหล่งอาหารให้ชุมชน โดยสนับสนุนให้ชุมชนทำประมงที่เหมาะสม และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติ “ทะเลสาบสงขลา” ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน