คุยกับคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ตอนที่ 2

เผยไอเดียการทำผลงานให้โดดเด่นและเข้าเกณฑ์การพิจารณาโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน จากคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ เน้นย้ำจะโครงการเล็กหรือใหญ่สามารถส่งผลงานเข้าคัดเลือก พร้อมแนะแง่คิดการทำงานเพื่อสังคมต้องยึดหลักความยั่งยืน

หลังจากที่ We are CP ได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย คุณสุธี สมุทระประภูต / คุณเปิ้ล-ศาลิดา เสรเมธากุล /ดร.ตู่-วรวุฒิ ไชยศร ที่ได้มาบอกเล่าภาพรวมของโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน พร้อมคำแนะนำให้เพื่อนพนักงานชาวซีพีร่วมส่งผลงานทำความดีซึ่งจะปิดรับสมัคร 31 ส.ค. 2563 สามารถติดตามได้จาก https://www.wearecp.com/cpr-140763/

มาต่อกันในตอนที่ 2 นี้คณะกรรมการทั้ง 3 ท่าน ได้มาร่วมแชร์มุมมองพร้อมเผยไอเดียของการทำผลงานให้โดดเด่นและเข้าเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้ โดยในปีนี้ มีรูปแบบแตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มาเพราะผลงานที่จะเข้ารับการคัดเลือกครั้งนี้ไม่จำกัดขนาดของผลงานที่ส่งมา ผลงานจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะทำเป็นกลุ่มหรือเดี่ยว ก็สามารถส่งผลงานเข้าร่วมเพื่อคัดเลือกเข้ารับการเชิดชู โดยปีนี้ได้แบ่งประเภทของผลงานเป็น เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ต้นกล้าแห่งความหวัง และร่มเงาแห่งความยั่งยืน ซึ่งกำหนดเกณฑ์การพิจารณาออก 4 ด้านได้แก่ 1. ด้านการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน 2. ด้านการมีส่วนร่วม 3.ด้านประโยชน์ที่ได้รับ และ 4.ด้านความยั่งยืน

คุณสุธี หนึ่งในคณะกรรมการฯ ได้แนะไอเดียความคิดการทำงานเพื่อสังคมในโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน และเน้นย้ำว่าในปีนี้ไม่ว่าจะโครงการเล็กหรือโครงการใหญ่ก็สามารถร่วมส่งผลงานเข้าคัดเลือกได้ เพราะโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนไม่ใช่โครงการที่แข่งขันแต่เป็นโครงการส่งส่งต่อความดีที่จะต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาของสังคม โดยจะพิจารณาผลงานเริ่มจากกระบวนการที่มาของปัญหา นำมาสู่วิธีการแก้ไขปัญหา การคิดค้นนวัตกรรม การสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในการหาทางออกร่วมกันหา หลังจากนั้นดูว่ามีการวัดผลประเมินผลของโครงการว่าสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างไร

ทั้งนี้แนะว่าหากเป็นโครงการที่ดำเนินอยู่แล้วให้นำมาพัฒนาต่อยอดและขยายผลของโครงการ ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อาจจะนำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้รับ New Normal ที่เกิดขึ้นในสังคมอีกด้วย เพราะฉะนั้นย้ำว่าผลงานที่ส่งเข้ามาจะเล็ก กลาง ใหญ่ จะพิจารณาจากลักษณะและวิธีการแก้ปัญหา สิ่งสำคัญจะต้องมุ่งมั่นลงมือทำจริง ความท้าทายคือจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเห็นผลออกมาเป็นรูปธรรมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน สังคมและประเทศ

ขณะเดียวกันดร.ตู่-วรวุฒิ มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ในช่วงโควิด-19 จะต้องทำโครงการที่ตอบโจทย์และทันต่อสถานการณ์ในช่วงนี้ ที่ต้องมองว่าผลงานเหล่านี้จะทำให้เกิด Solution ในการแก้ปัญหา Pain Point ต่างๆ ได้อย่างไร แล้ว Solution เหล่านี้มันจะไปตอบโจทย์ความยั่งยืนในแต่ละมิติอย่างไร สิ่งสำคัญคือ พนักงานต้องถามตัวเองว่ามีความสนใจและถนัดที่จะทำผลงานในมิติด้านใดของความยั่งยืน และทำการศึกษาอย่างรอบด้าน ต้องกล้าคิดและกล้าทำ ทั้งนี้มองว่าคนซีพีมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาของชุมชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้อีกประเด็นที่สำคัญของการทำโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนคือ “การมีใจรัก” ทำโครงการเพื่อสังคม ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการทำความดีอย่างยั่งยืน…คุณเปิ้ล-ศาลิดา ได้เน้นย้ำประเด็นดังกล่าว เพราะมองว่าหากพนักงานซีพีรู้ว่ามีใจรักในการทำงานเพื่อสังคมในด้านใด ก็จะลงมือทำในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการปลูกฝัง DNA ความดีให้กับพนักงานทุกคน โครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนจึงเปรียบเสมือนเวทีที่ให้เพื่อนชาวซีพีมาร่วมส่งต่อบอกเล่าการทำความดีให้กับคนในองค์กรได้รับรู้และมาร่วมมือกันทำความดีเพื่อสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน

คุณเปิ้ล-ศาลิดา ยังได้แนะนำเพิ่มเติมว่า หากพนักงานที่สนใจโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลของโครงการและตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา ในเว็บไซต์ click4planet.com ซึ่งจะทำให้เห็นถึงรูปแบบของผลงานที่ได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนและสังคมในมิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้สามารถต่อยอดไอเดียความสร้างแรงบันดาลใจอยากที่จะส่งผลงานเข้าร่วมเพื่อยกย่องเชิดชู สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองและองค์กร

ปิดท้ายแง่คิดสร้างแรงบันดาลใจจากเหล่าคณะกรรมการฯ ทั้ง 3 ท่าน ที่อยากจะฝากให้เพื่อนชาวซีพีที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือกในโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนจะต้องมองว่า การทำงานเพื่อสังคมต้องยึดหลักความยั่งยืนเป็นสำคัญ เพราะการทำความดีเพื่อสังคม ไม่ได้เพียงเป็นงานจิตอาสา แต่เป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่จะต้องลงมือทำเพื่อสร้างโลกใบนี้ให้ดีขึ้น เวทีซีพีเพื่อความยั่งยืนเป็นดั่งพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้โมเดลงานขับเคลื่อนสังคมทำความดี ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของความยั่งยืน

////////////