ท่ามกลางอากาศร้อนระอุแบบนี้ ‘น้ำแข็ง’ คือหนึ่งในไอเท็มข้างกายคลายร้อนที่แอดมินชอบมาก ชนิดที่ว่าต้องมีติดตู้เย็นตลอดเวลา เพราะช่วงเวลาร้อนๆ แบบนี้ การได้ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ พร้อมกับน้ำแข็งเป็นอะไรที่ช่วยชุบชูใจระหว่างวันได้ดีนัก!
และระหว่างที่กำลังเคี้ยวน้ำแข็งเพลินๆ พร้อมมองแก้วที่ใส่เครื่องดื่มรสหวานอยู่นั้น ทำให้เกิดความสงสัยว่า ‘น้ำแข็ง’ ก้อนเล็กๆ ที่บรรจุอยู่เต็มแก้วนั้นมีความเป็นมาอย่างไร? เพราะหากย้อนเวลากลับไปในยุคที่ยังไม่มีตู้เย็นหรือเครื่องทำน้ำแข็ง การจะทำให้น้ำกลายเป็นก้อนแบบนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องง่ายแน่ๆ
จึงเป็นที่มาให้วันนี้อยากแบ่งปันความเป็นมาเกี่ยวกับ ‘น้ำแข็ง’ ไอเท็มคลายร้อนก้อนเล็กที่มีความเป็นมาไม่เล็กเหมือนรูปร่าง!
คนไทยรู้จัก ‘น้ำแข็ง’ ครั้งแรกๆ สมัยรัชกาลที่ 4
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าประเทศไทยทำความรู้จักกับ ‘น้ำแข็ง’ ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ไทยมีการทำการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น จึงทำให้เกิดการนำเข้าวัฒนธรรมต่างๆ ผ่านสินค้าที่บรรทุกข้ามน้ำข้ามทะเลมาทางเรือ โดย ‘น้ำแข็ง’ คือหนึ่งในสิ่งที่เดินทางมาไกลถึงประเทศไทยในช่วงเวลานั้นนั่นเอง!
น้ำแข็งก้อนแรก
หลายคนอาจจดจำน้ำแข็งก้อนแรกจากการหยิบจับผ่านตู้เย็นในบ้าน แต่สำหรับประเทศไทย ‘น้ำแข็งก้อนแรก’ เดินทางมาจากที่ไกลแสนไกล พร้อมกับเรือกลไฟที่มีชื่อว่า ‘เจ้าพระยา’ ของพระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร)
โดยน้ำแข็งก้อนแรกถูกบรรจุมาในหีบไม้ฉำฉาที่กลบด้วยขี้เลื่อย (เพื่อรักษาอุณหภูมิ) ซึ่งในสมัยนั้นการเดินทางของเรือเจ้าพระยาจากสิงคโปร์มาประเทศไทยต้องใช้เวลากว่า 15 วันต่อ 1 เที่ยว! จึงทำให้ ‘น้ำแข็ง’ กลายเป็นของแปลกใหม่ และมีคนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ลิ้มลอง
ปั้นน้ำเป็นตัว
แต่ใช่ว่าการมาถึงของ ‘น้ำแข็ง’ จะทำให้คนไทยตื่นเต้น ดีใจ หรือพยายามหามาลิ้มลองให้ได้ เพราะในหนังสือ ฟื้นความหลัง เล่ม 1 ของ พระยาอนุมานราชธน (เสถียรโกเศศ) ได้เขียนถึงน้ำแข็งที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงนั้นว่า
“…เมื่อมีน้ำแข็งใหม่ๆ คนส่วนมากยังไม่เคยเห็น และซ้ำจะไม่เชื่อว่าน้ำแข็งมีจริง จนถึงทางราชการเอาใส่ถาดตั้งไว้ให้ราษฎรดูที่พิพิธภัณฑสถาน ซึ่งสมัยนั้นตั้งอยู่ที่ตึกศาลาสหทัย ราษฎรที่พากันไปดูบางคนคิดถึงคนอื่นที่บ้าน เป็นห่วงว่ายังไม่เคยเห็น ก็ขอก้อนน้ำแข็งซึ่งเขาต่อยไว้แล้วเป็นก้อนเล็กๆ เอาไปฝากหรืออวดคนที่บ้าน”
รวมถึงยังมีบันทึกเกี่ยวกับมุมมองของคนไทยต่อน้ำแข็งเอาไว้ด้วยว่า “ชาวบ้านชั้นผู้ใหญ่ห้ามเด็กไม่ให้กิน บอกว่าแสลง กินเข้าไปแล้วร้อน เห็นจะหมายถึงว่าร้อนใน หาว่ามันใส่ยาอะไรก็ไม่รู้ จึงทำให้น้ำแข็ง”
เพราะเอาเข้าจริงแล้วในช่วงเวลานั้นคนไทยไม่ได้เดือดร้อนกับการบริโภคน้ำแข็งเท่าไรนัก เนื่องจากอาศัยดื่มน้ำจาก ‘โอ่งดิน’ ซึ่งมีความเย็นชื่นใจอยู่แล้ว การไม่มีน้ำแข็งมาใส่ในน้ำดื่มก็ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต เลยทำให้ช่วงแรกน้ำแข็งดูจะเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ค่อยอินสักเท่าไร
โรงน้ำแข็งแห่งแรก
หลังจาก ‘นำเข้า’ น้ำแข็งผ่านเรือกลไฟมาเป็นเวลานาน ในที่สุดประเทศไทยก็สามารถผลิตน้ำแข็งได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องนำเข้าจากที่ไหนในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการตั้ง ‘โรงน้ำแข็งแห่งแรก’ ของประเทศไทยในชื่อ ‘น้ำแข็งสยาม’ (บริเวณถนนเจริญกรุง) โดยพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) และทำให้ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ‘โรงน้ำแข็งนายเลิศ’ ในเวลาต่อมา
โฆษณาน้ำแข็ง
จากจุดเริ่มต้นของการ ‘นำเข้า’ สู่การตั้ง ‘โรงงานผลิตน้ำแข็ง’ เมื่อน้ำแข็งเริ่มแทรกซึมเข้ามาในวิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น จึงทำให้เกิดการตีพิมพ์โฆษณาน้ำแข็งในหนังสือพิมพ์ โดยโฆษณาดังกล่าวถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2432 ในราคาปอนด์ละ 4 อัฐ โดยบริษัทแอนเดอร์สัน นั่นเอง
จากจุดเริ่มต้นพร้อมความเป็นมาทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันมีพวกเราทุกคนได้มีโอกาสรู้จักและลิ้มลองน้ำแข็งหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น น้ำแข็งก้อน น้ำแข็งหลอด น้ำแข็งเกล็ด ฯลฯ ไปจนถึงน้ำแข็งละลายช้าที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย (หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับน้ำแข็งยี่ห้อ ‘ร็อกไอซ์’ ที่มีขายอยู่ในตู้แช่แข็งของ 7-Eleven)
สำหรับแอดมินแล้ว นอกจากน้ำแข็งที่ผลิตจากตู้เย็นที่บ้าน (เพราะหยิบง่าย) อีกหนึ่งน้ำแข็งในดวงใจคงหนีไม่พ้น ‘น้ำแข็ง 7-Eleven’ น้ำแข็งก้อนเล็กๆ กรอบๆ ที่ไม่ว่าจะเอาไปใส่ในเครื่องดื่มอะไรก็อร่อยและเคี้ยวกรุบ
เบื้องหลังความอร่อยของน้ำแข็ง 7-Eleven นั้น เคล็ดลับอยู่ที่เครื่องทำน้ำแข็งแบรนด์ Newton ที่บางรุ่นสามารถผลิตน้ำแข็งก้อนเล็กได้โดยอาศัย ‘ฟองอากาศ’ ปริมาณมากที่เข้ามาในน้ำแข็ง ทำให้น้ำแข็งมีเท็กซ์เจอร์ที่แตกต่างจากน้ำแข็งแบบอื่นๆ
อ่านมาถึงตรงนี้ในช่วงเวลาร้อนๆ แบบนี้ จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมแบ่งปัน ‘น้ำแข็ง’ ในดวงใจ ใครชื่นชอบน้ำแข็งแบบไหน ของแบรนด์ใด หรือร้านใดบ้าง มาแชร์กันได้ เราจะขอตามไปลิ้มลอง!
.
อ้างอิง:
https://krua.co/…/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97…/
.
ร่วมเป็นสมาชิก Facebook Group: คลังภาพซีพี 100 ปี เพื่อติดตามอ่านเรื่องราวทั้งจากนักเขียนรุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก ภาพหาดูยาก และเรื่องราวดีๆ ได้ที่ www.facebook.com/groups/cpgallery
.