“ บล็อกเชนสร้างกระแสข้อมูลที่เป็นอิสระและตรวจสอบได้ในห่วงโซ่อุปทานของเรา ทุกคนมีความรับผิดชอบนำเสนอข้อมูล เรามีความรับผิดชอบในส่วนของเรา; เราสามารถถ่ายทอดสิ่งนี้ให้กับผู้บริโภค พวกเขาจึงมั่นใจในข้อมูลความจริงที่เขาเห็น”
นี่เป็นส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ เบนจามิน ดูบัวส์ ผู้กุมบังเหียนด้านความยั่งยืนของ Nestlé บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลก ที่ยืนยันว่า ข้อมูลการผลิตวัตถุดิบ และสินค้า ได้รับการจัดเก็บ และเปิดเผยผ่าน “บล็อกเชน” ตั้งแต่หน้าฟาร์ม จนถึงมือผู้บริโภค ร่วมกับเทคโนโลยี “ดาวเทียม” ที่ระบุพิกัดพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการผลิตเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่มีกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อม จนได้รับรองจากพันธมิตรป่าเขตร้อน (Rainforest Alliance) องค์กรระหว่างประเทศที่มุ่งส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พวกเขาเพียงแค่แสกน QR Code เข้าถึงบล็อกเชน OpenSC ที่ทำงานร่วมกับดาวเทียม ก็จะทราบว่า กาแฟมาจากแหล่งใด ปลูกที่ไหน เก็บเกี่ยว ถึงมือผู้บริโภคด้วยวิธีใด ตลอดจนมีใบรับรองความยั่งยืนหรือไม่
วิสัยทัศน์ของเบนจามิน ไม่ต่างจากบริษัทข้ามชาติชื่อดังทั่วโลก อาทิ วอลมาร์ต ไนกี้ ยูนิลิเวอร์ และสตาบัคส์ เป็นต้น ที่นำบล็อกเชน เทคโนโลยีดาวเทียม และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับข้องมาตรวจสอบ และรายงานความโปร่งใสในกระบวนการผลิตสินค้าของตน โดยแนวทางนี้กลายเป็นวิถีดำเนินธุรกิจยุคใหม่ สอดรับกับกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ที่เริ่มขยับออกมาบังคับใช้ให้ภาคการผลิตใส่ใจความยั่งยืนมากขึ้น
หากพิจารณาคำให้สัมภาษณ์ของเบนจามิน มีสองประเด็นที่เราจำเป็นต้องขีดเส้นใต้ ประเด็นแรก คือ ผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) มีหน้าที่ต้อง “ตรวจสอบ และประเมิน” (Due Diligence) กระบวนการได้มาของวัตถุดิบ และสินค้า ย้อนกลับไปหาผู้ผลิต ให้ปลอดจากกิจกรรมทำลายสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่สองคือ มีหน้าที่ต้อง “เปิดเผย” ข้อมูล เพื่อสร้างความโปร่งใสไม่เพียงต่อผู้กำกับนโยบาย (Regulator) แต่รวมถึงผู้ค้า และผู้เกี่ยวข้อง
สองเส้นใต้สำคัญนี้ เป็น ปัจจัยสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” หรือ “Traceability System” นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่ภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ริเริ่มนำมาใช้เพื่อสร้างความโปร่งใส และยั่งยืนให้กับห่วงโซ่อุปทานของตนเอง
ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เป็นระบบติดตาม และตรวจสอบการเดินทางของสายพานการผลิต และการได้มาซึ่งวัตถุดิบ และสินค้า ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป การขนส่ง การกระจายสินค้า และการบริโภค กระบวนการแต่ละขั้นตอนจะได้รับการจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล ที่สามารถตรวจสอบ “ย้อนไป และย้อนกลับ” ได้ โดยใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยการสำรวจ เก็บข้อมูล และแสดงผล ให้แม่นยำ และเที่ยงตรง
เพื่อให้เกิดภาพที่ชัดเจน ภาคเอกชนจำเป็นต้องเดินหน้าปรับใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี อย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับมีประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน
- เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)
เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นระบบฐานข้อมูลที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้สามารถบันทึกข้อมูลโปร่งใส และผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ บล็อกเชนจะสามารถรวบรวมข้อมูลจากแหล่งกำเนิดสินค้า ลึกลงไปถึงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของแปลงที่ปลูก เพื่อยืนยันว่ากระบวนการต้นกำเนิดไร้การตัดไม้ทำลายป่า หรือกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- เทคโนโลยีดาวเทียม
เทคโนโลยีดาวเทียมสามารถติดตามตำแหน่งสินค้า หรือวัตถุดิบห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ทางกายภาพได้อย่างเรียลไทม์ ผ่านระบบ GPS (Global Positioning System) ซึ่ง และ GNSS (Global Navigation Satellite System) อาทิ การระบุ และรายงานพื้นที่เผาป่า (Burning Scar) และพื้นที่เขา (Mountain Area) เป็นต้น
- เทคโนโลยี AI และ Machine Learning
AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบตรวจสอบย้อนกลับ เช่น การทำนายปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากข้อมูลที่มี หรือการเรียนรู้จากกระบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ขณะที่ Machine Learning สามารถช่วยตรวจจับข้อผิดพลาดหรือความผิดปกติในกระบวนการผลิตหรือขนส่งที่อาจไม่ได้ถูกสังเกตจากมนุษย์
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 เทคโนโลยีให้ความสำคัญ การจัดเก็บข้อมูลอย่างครอบคลุม และรวดเร็ว และติดตามในลักษณะ “เส้นทางการตรวจสอบ” (Audit Trail) ผู้เขียนเห็นว่า ข้อมูลที่ดีควรมีทั้งข้อมูลหลัก (Primary Data) ที่เก็บจากภายในบริษัท และข้อมูลรอง (Secondary Data) ที่เก็บจากพันธมิตร เพื่อรับประกันความสมบูรณ์ของข้อมูล
จากประสบการณ์ ผู้เขียนเห็นว่าสินค้าเกษตรที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ได้แก่
1. กาแฟ เพื่อตรวจสอบว่ามาจากฟาร์มที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
2. โกโก้ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ใช้แรงงานเด็กในกระบวนการผลิต
3. ปาล์มน้ำมัน เพื่อลดการปลูกในพื้นที่ป่าฝนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
4. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดการบุกรุกป่าและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับประเทศไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี โดยเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส (ซีพีพี) และกรุงเทพโปรดิ๊วส (บีเคพี) ได้ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการรับซื้อ และจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร และขยายไปยังเขตธุรกิจในเมียนมา โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม และจีพีเอส เพื่อระบุพิกัดป่า เขา และจุดเผา ตั้งมาตรฐานนโยบายปฏิเสธการซื้อขายจากพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทำงานร่วมกับสมาคมผู้ค้า ผู้ขาย และเกษตรกร ตลอดจนเครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด มหาชน (ซีพีเอฟ) ได้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ตรวจสอบย้อนกลับสินค้าตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยการแสกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) บนบรรจุภัณฑ์ โดยจะแสดง แหล่งที่มาสินค้า ข้อมูลสินค้า ตลอดจนปริมาณการผลิตสินค้า ที่มีสัดส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน, ดาวเทียม, และ AI สามารถช่วยให้การตรวจสอบและติดตามสินค้าจากต้นทางถึงผู้บริโภคเป็นไปอย่างแม่นยำและโปร่งใส นอกจากจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs) ที่ครอบคลุม 3 ด้านทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“ระบบตรวจสอบย้อนกลับ จึงเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่ภาคเอกชน ควรนำมาขับเคลื่อน เพื่อพิชิตโลกแห่งความยั่งยืนร่วมกัน”
อ้างอิง
https://techhq.com/2020/07/nestle-why-the-worlds-biggest-food-company-uses-blockchain/