“Business Meets Humanity: “ทำธุรกิจด้วยจิตใจ ร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืน”

โดย : ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์เครือเจริญโภคภัณฑ์

คาดกันว่าในแต่ละวัน มีเด็ก 1 ใน 10 คน กำลังถูกบังคับใช้แรงงาน และประชากรของโลกราว 7,500 คนเสียชีวิตจากการทำงานที่สุ่มเสี่ยง

สถิติจาก UN Global Compact ข้างต้นบ่งชี้ให้เห็น สถานการณ์ที่น่าวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ที่เผชิญกับสภาพการทำงานที่โหดร้าย รายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า แรงงานยังเผชิญกับ “ความเหลื่อมล้ำ” และ “การเหยียดเชื้อชาติ” ที่ลุกลามอย่างไม่สิ้นสุด

สอดคล้องกับข้อมูลองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุว่า ประชากรราว 27.6 ล้านคนทั่วโลก ตกอยู่ในสถานะ “แรงงานภาคบังคับ” มีเด็กประมาณ 160 ล้านคนทั่วโลกต้องทำงาน จำนวนนี้ 79 ล้านคนเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่อันตราย โดยมักพบในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ

นี่จึงไม่ใช่เพียงแค่สถานการณ์ที่น่าวิตกของ “ภาคแรงงาน” หากฉายภาพ สถานการณ์ “สิทธิมนุษยชน” ที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

ข้อเท็จจริงนี้ ตั้งคำถามไปยังประชาคมโลก ว่าเรากำลังคำถึงถึง สิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากน้อยแค่ไหน และ กลายเป็นแรงกระเพื่อม ไม่เพียงต่อบรรดารัฐแต่ละประเทศ หากยังรวมถึง “ภาคเอกชน” ในการที่จะมีนโยบาย และการปฏิบัติที่ส่งเสริม และเคารพสิทธิมนุษยชน ตามกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด (The State duty to protect human rights) หรือตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐได้เข้าเป็นภาคี

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคเอกชนต้องใส่ใจ!

บทความนี้จะกล่าวถึง บทบาทของภาคเอกชนกับสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่การดำเนินธุรกิจ เกี่ยวพันกับสังคมอย่างหลากหลาย และโลกเคยมีบทเรียนไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับผลกระทบทางสิทธิมนุษยชนที่มาจากภาคเอกชน ความคาดหวังจึงมาพร้อมแรงเสียดทาน ที่ผลักให้ภาคเอกชนมีหน้าที่ต้องยึดมั่นมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสำหรับการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย ในฐานะ “ผู้ทรงสิทธิ์ (Rights Holder)  ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า ชุมชน และสังคมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain)

เรื่องนี้ทำให้ปี 2554 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ได้รับรอง “หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs)เป็น “เสาหลัก” ของโลกเพื่อลดความเสี่ยงการดำเนินการของภาคเอกชน ที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน

หลักการชี้แนะดังกล่าวประกอบด้วย ­3 เสาหลัก คือ

1. คุ้มครอง (Protect) โดยรัฐต้องคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเกิดจากรัฐ หรือองค์กรภาคเอกชนเอง

2. เคารพ (Respect) ภาคเอกชนมีหน้าที่เคารพ และปกป้องสิทธิมนุษยชน และ

3. เยียวยา (Remedy) รัฐ และภาคเอกชนควรจัดให้มีกลไกร้องเรียน และเยียวยาความเสียหายอย่างรวดเร็ว และเป็นธรรม และมีมาตรการแก้ไข ฟื้นฟูอย่างชัดเจน 3 เสาหลักนี้ยังได้รับการตอกย้ำในรายงาน “ความรับผิดชอบของธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน (Corporate Responsibility to Respect Human Rights) ฉบับแนวทางการตีความ ที่สหประชาชาติได้ออกรายงานในปี 2555 (นิวยอร์ก และเจนีวา)

มากกว่านั้น ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ยังได้บูรณาการสิทธิมนุษยชนกับโลกธุรกิจ ผ่านหลัก 10 ประการ ซึ่งควบรวมประเด็นสิทธิมนุษยชนไว้หลายข้อ อาทิ หลักการที่ 3 ธุรกิจต้องเปิดกว้างต่อเสรีภาพการรวมกลุ่ม และการเจรจาต่อรองร่วมกัน หลักการที่ 4 ธุรกิจต้องกำจัดการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ หลักการที่ 5 การยุติการใช้แรงงานเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการที่ 6 การกำจัดการเลือกปฏิบัติสำหรับการจ้างงาน และอาชีพ เป็นต้น

นอกเหนือจาก 3 เสาหลักที่จะกลายมาเป็นแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ระยะที่ 2  และข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ ที่ภาคเอกชนนำมาเดินหน้าองค์กร ควบคู่กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ผมขอเสนอบันได 4 ขั้นเป็นไฟฉายส่องทางให้ภาคเอกชน ดำเนินมาตรการปกป้อง และลดความเสี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน

  1. พันธกิจสิทธิมนุษยชนต้องชัดเจน ความชัดเจนและความโปร่งใสสำหรับการคุ้มครองสิทธิของพนักงาน ผู้มีส่วนได้เสีย และชุมชนท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอันดับแรก เพราะจะช่วยให้องค์กรสามารถบูรณาการการปฏิบัติงานย่อย เพื่อตอบสนองห่วงโซ่คุณค่าได้มีประสิทธิผล อาทิ พันธกิจการกำจัดการเลือกปฏิบัติการจ้างงาน เป็นต้น พันธกิจนี้ควรอบรมให้กับพนักงานทุกระดับเพื่อให้เข้าใจ และปฏิบัติตาม ตลอดจนสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย
  2. ตรวจสอบ และประเมินผลกระทบที่เชื่อถือได้ ดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า ทั้งที่เกิดขึ้นจริง และมีโอกาสเกิด (Actual and Potential Impacts) ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการขายสินค้า ผ่านการใช้เครื่องมือที่เชื่อถือได้ โดยผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมเป็น “คณะกรรมการ” พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญภายนอก ร่วมควบคุมดูแล และให้ความเห็น ทั้งนี้ในทุกปี ภาคเอกชนต้องออกรายงานทบทวนความเสี่ยงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเผยแพร่ต่อสาธารณะ
  3. สนับสนุนพื้นที่ปลอดภัยกับผู้มีส่วนได้เสีย การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องคำนึงถึงการเปิดพื้นที่เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย มี “ช่องทาง” การมีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งในและนอกองค์กร อาทิ การสนับสนุนการรวมกลุ่มของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศในสถานที่ทำงาน การมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการรับเรื่องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
  4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างรอบด้าน เทคโนโลยีสามารถมีบทบาทสำคัญในการปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทั้งการติดตามตรวจสอบ การสื่อสารฝึกอบรม การวิเคราะห์ข้อมูล และการสร้างความโปร่งใส อาทิ การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนขององค์กร การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบ และสินค้ามาจากแหล่งที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และกลุ่มธุรกิจในเครือดำเนินนโยบาย และการปฏิบัติเพื่อปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง และเกี่ยวข้องกับทุกองคาพยพของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของเครือฯในปี 2573 ทั้งประเด็นอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน ประเด็นแรงงานข้ามชาติ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ประเด็นข้อมูลส่วนบุคคล และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

หนึ่งในตัวอย่างที่สามารถแจกแจงเป็นรูปธรรม คือ การดำเนินงานด้านแรงงานข้ามชาติ ที่อิงตามมาตรฐานสากลอย่าง “หลักการการย้ายถิ่นอย่างมีศักดิ์ศรีของสหประชาชาติ” ต่อแรงงานข้ามชาติจำนวน 12,000 คนภายใต้เครือซีพี บริษัทจัดหางานที่ป้อนแรงงานได้รับการตรวจสอบจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เพื่อประกันความชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนของการจัดจ้างแรงงาน และดำเนินงานผ่าน “หลักการนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน และจ้างงาน” ที่ผ่อนภาระแรงงานข้ามชาติ และประกันสิทธิการได้รับค่าตอบแทน โดยปราศจากการแสวงหาประโยชน์

เครือฯ ยังเปิดพื้นที่ให้แรงงานข้ามชาติ สามารถร้องเรียนหากถูกละเมิดได้อย่างปลอดภัย และไม่กลัวการถูกลงโทษ โดยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม (Third Party) อาทิ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานจัดทำ “สายด่วนแรงงาน” ให้พวกเขาสามารถยื่นขอความช่วยเหลือ หรือร้องเรียนได้ หรือ บริษัท ซีพีแอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ที่มี “สายด่วนฟรีโลตัส” รองรับถึง 4 ภาษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้แรงงานข้ามชาติ ถูกผลักให้เป็นอื่น (otherness) แตกต่างแปลกแยกจากพนักงานของเครือฯโดยทั่วไป เป็นต้น

สำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทในเครือฯ อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เข้าไปเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร และดำเนินธุรกิจในหลายประเทศ ก็มีแนวนโยบาย และการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม อาทิ ในปีที่ผ่านมา บริษัทประกาศยุติการใช้ถ่านหิน และเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนเป็นแหล่งพลังงาน เลือกใช้พลังงานชีวมวลเป็นพลังงานทางเลือก สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งน้ำในประเทศบังกลาเทศ และเวียดนาม เพื่อให้ในท้ายที่สุดสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2573

จะเห็นได้ว่าความคาดหวังต่อภาคเอกชน จึงไม่ใช่เพียงการ “ป้องกัน” การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในองค์กรของตนเอง ทว่าจะ “สร้างเสริม” สิทธิมนุษยชนต่อชุมชน และสังคมในภาพรวมได้อย่างไร นี่จึงเป็นความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับความท้าทาย ที่จะสร้าง

             “พื้นที่ปลอดภัย” ขององค์กร และ “พื้นที่อุ่นใจ” ของสังคม