- มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. 2021 ขยายตัวถึง 6%YOY สูงสุดในรอบเกือบ 11 ปีและหากหักทองคำจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 48.8%YOY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์
- อัตราเติบโตในระดับสูงของเดือน พ.ค. เกิดจากปัจจัยฐานต่ำปีก่อนเป็นสำคัญ โดยหากพิจารณามูลค่าส่งออกแบบปรับฤดูกาล พบว่าการส่งออกได้ปรับลดความร้อนแรงลงมาระดับหนึ่ง สะท้อนจาก %MoM_sa ที่หดตัว อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ 23,057.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน พ.ค. ก็ถือว่าเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนในช่วงปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤต และยังคงเป็นไปในทิศทางสอดคล้องกับที่ EIC คาดไว้ทั้งปี 2021ว่าจะเติบโตที่ 0%YOY
- ในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยคาดว่าเดือน มิ.ย. จะเป็นอีกเดือนที่การส่งออกจะขยายตัวสูงจากปัจจัยฐานต่ำ ก่อนที่อัตราเติบโตจะทยอยปรับลดลง ทั้งนี้ต้องติดตามความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ขณะที่ปัญหาค่าระวางเรือสูงจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกจากการระบาดรอบล่าสุดทางตอนใต้ของจีน ซึ่งทำให้ต้นทุนการส่งสินค้าของผู้ประกอบการไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ
ทั้งนี้ ต้องติดตามความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและจีน ที่คาดว่าจะมีพัฒนาการด้านการฉีดวัคซีนที่มากกว่ากลุ่มประเทศด้อยและกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ล่าสุดของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก จะปรับลดลงจากยอดสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ในช่วงหลัง หลายประเทศเริ่มมีการระบาดมากขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์อินเดีย สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยรายวันช่วงล่าสุด (เฉลี่ยวันที่ 1-19 มิ.ย.) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดือนพ.ค. โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ทั้งนี้ต้องติดตามต่อไปว่าการระบาดที่เกิดขึ้นจะลุกลามจนกลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ และจะกระทบต่อภาคการส่งออกของโลกและของไทยหรือไม่
นอกจากนี้ การส่งออกของไทย ยังมีปัจจัยกดดันต่อเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) และตู้คอนเทนเนอร์ โดยการขาดแคลนชิปในช่วงปัจจุบันเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ การหยุดการผลิตในช่วงก่อนหน้าที่มีการระบาดของโควิด-19 ในปีก่อน ประกอบกับความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น ตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาภัยแล้งในไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก รวมถึงการแย่งชิงสต็อกชิป เนื่องจากการแบ่งขั้วเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐฯ
“การขาดแคลนชิป ได้ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเกมส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น ปัญหานี้จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยกดดันต่อเนื่องต่อภาคการส่งออกของไทยและของโลกในช่วงที่เหลือของปี” บทวิเคราะห์ระบุ
ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ล่าสุดได้ปรับตัวแย่ลงอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ทางตอนใต้ของจีน โดยในช่วงก่อนหน้า การฟื้นตัวของภาวะการค้าโลกที่เริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ขณะที่หลายท่าเรือของทางฝั่งอเมริกาและยุโรปยังไม่สามารถดำเนินการได้จากการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เป็นปัญหาเรื่อยมา
ต่อมาเกิดวิกฤตการณ์เรือขวางคลองสุเอซในเดือนมี.ค.64 จึงยิ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลง และล่าสุดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ในมณฑลกวางตุ้งของจีน ได้ทำให้เกิดความล่าช้าในการบริหารจัดการสินค้าของท่าเรือเหยียนเทียน และท่าเรือกว่างโจว ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นลำดับ 3 และ 5 ของโลก จึงทำให้สถานการณ์ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ตึงเครียดเพิ่มเติม สะท้อนจากราคาระวางเรือ (Freight) ที่กลับมาปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงหลัง
ที่มา : https://www.scbeic.com/