เครือเจริญโภคภัณฑ์จัดประชุม CPG 2030 Sustainability Strategy Workshop ระดมผู้บริหารระดับสูงทุกกลุ่มธุรกิจร่วมกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดเตรียมประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนสู่ปี 2030

วันนี้ (18 ก.ค.2563) เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดประชุมกำหนดวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน ”CPG 2030 Sustainability Strategy Workshop” โดยมีคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย คุณณรงค์ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส คุณนพปฏล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืน และคณะกรรมการบริหารของเครือฯ (CPG EXCOM), CEO & Senior Executive, SGC Operating & SGC Officer Executive และผู้บริหารงานด้านความยั่งยืนของแต่ละกลุ่มธุรกิจจากทุกกลุ่มธุรกิจในเครือทั่วโลกรวม 95 คน เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และการพิจารณารับรองเพื่อประกาศเป็นยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของเครือฯ สู่เป้าหมายปี 2030 ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งสำคัญนี้ได้จัดขึ้นที่ Co-working space ชั้น 28 อาคารทรู ทาวเวอร์ และออนไลน์ไปยังประเทศต่างๆ โดยมีบริษัท PricewaterhouseCoopers Consulting (Thailand) เป็นที่ปรึกษา

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวเปิดการประชุมพร้อมให้แนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยกล่าวว่า เครือฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร 3 ประโยชน์ ที่คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมก่อนประโยชน์ขององค์กร ซึ่งผู้นำมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะผลักดันและขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน

ทั้งนี้ การดำเนินการด้านความยั่งยืน คือการเพิ่มมิติการทำธุรกิจจากเดิมให้ความสำคัญด้าน Productivity เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งเครือฯ ทำได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบัน Productivity อาจจะไม่เพียงพอจะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อที่จะทำให้สามารถรับมือกับความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

คุณศุภชัยกล่าวว่า เครือฯ ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการในรูปแบบของการความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR และได้มีการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมโดยกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบันที่เครือฯ สามารถดำเนินการและมีความคืบหน้าในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เครือฯ ดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

“ปัจจุบันซีพี เรามีพนักงานทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน มีธุรกิจในต่างประเทศกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เรามีส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ซึ่งเครือฯ เรามีความสามารถ และมีศักยภาพที่จะเป็น 1 ในผู้นำของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้ ซึ่งเป็นความท้าทายของพวกเราทุกคน ที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจ ซึ่งอาจจะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ขอให้ทำงานอย่างมีมีความสุข และสนุกกับงานที่ทำ ”

คุณศุภชัย ยังได้พูดถึงการดำเนินงานด้านความยั่งยืนว่า ควรจะต้องเริ่มต้นที่การมีรายงานด้านความยั่งยืน เพราะเป็นการบอกให้สาธารณะรับรู้ว่า เครือฯ มีแผนงานการดำเนินงาน และมีการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้า และมีผลงานที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนอย่างไร มีแผนงานที่จะดำเนินงานไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร และมีผลที่เกิดขึ้นต่อสังคมอย่างไร

“ถือเป็น Commitment ที่เราบอกให้สังคมรับรู้ เรื่องราวที่เราทำ หรือกำลังจะทำ และจะเกิดผลอย่างไรในสังคม คือเมื่อเราได้พูดออกไปแล้ว ก็ควรจะต้องทำตามในสิ่งที่เราได้พูดออกไป เพราะนั่นคือ พันธะสัญญา ที่เราเปล่งวาจาออกไปแล้ว และในการทำงานด้านความยั่งยืนนั้น เราควรจะทำให้เป็นเนื้อเดียวกับการทำธุรกิจ”

ปัจจุบันเครือฯ ได้ประกาศ 2 เป้าหมายด้านความยั่งยืน คือ เป้าหมาย Zero Food Waste และเป้าหมาย Carbon Neutral ซึ่งคุณศุภชัย ได้กล่าวว่า ทั้ง 2 เป้าหมายเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะในปัจจุบันโลกมีอัตราเร่งที่ทำให้เกิด Waste จากอาหารที่เราบริโภคมากมาย และเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ระดับโลก รวมทั้งเรื่องของการปลดปล่อยคาร์บอน ที่ปัจจุบันเครือฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีการปลอดปล่อยคาร์บอน ดังนั้น เราจะต้องทำให้เครือฯ เป็นองค์กรที่ปลดปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์ ภายในปี 2030

“ เรื่องของ Zero waste อาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก อยากให้เราเริ่มต้นมองจากสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เรา Operate มองในสิ่งที่เราสามารถควบคุม และบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง ส่วนเรื่องของการปลอดปล่อยคาร์บอน นอกจากจะมองในเรื่องของการลดมลภาวะจากการทำธุรกิจของเราแล้ว สิ่งที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนได้ดี คือ การรักษาป่า การเพิ่มพื้นที่ป่า โดยจะต้องทำเรื่อง Carbon Credit ควบคู่กันไป”

อย่างไรก็ตาม คุณศุภชัย กล่าวว่า เป้าหมาย Zero waste และ Carbon Neutral เป็นเรื่องที่จะต้องเริ่มลงมือทำ แม้ว่า ปัจจุบันโลกของเราจะยังสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่ด้วยอัตราเร่งของโลกที่มีการพัฒนาขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา และไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าระบบนิเวศจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร คุณศุภชัย ย้ำว่า ไม่ต้องรอและขอให้ลงมือทำเลย โดยจะต้องทำแบบ Proactive และต้องทำอยู่ในกระบวนการของความคิด

“ แม้ว่าบางอย่างเราคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ เป็นเรื่องที่ทำแล้วมีประโยชน์ หากเราทำแล้วเกิดผลในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม ก็จะเป็นโอกาสที่จะสามารถทำให้เป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจได้ อย่างเรื่องพลังงานทดแทน ที่หลายธุรกิจได้เริ่มทำกันไปบ้างแล้ว ซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด ไม่ใช่ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของเรา ดังนั้นในการทำงานต้องมองภาพรวมคู่ขนานกันไป ความสำเร็จทั้งหมดอยู่ที่ความเชื่อ ความตื่นรู้ มีความเข้าใจ ผู้นำที่ดีต้องตื่นรู้ได้ด้วยตนเอง และเป็นตัวอย่างทีดี เราต้องเริ่มที่ความเข้าใจ ตระหนักรู้ หากเราไม่มีความเชื่อ เราก็จะไม่มีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้” คุณศุภชัย กล่าวสรุปในท้ายที่สุด

อนึ่ง การจัด Work Shop ในครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูง ที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ซึ่งทีมงานด้านยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน และบริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำเป็นกรอบและแนวทาง โดยมีผู้บริหารระดับสูง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมนำเสนอความคิด ซึ่งผลที่ได้จากการจัด workshop ครั้งนี้ ทีมงานจะนำไปรวบรวม และจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ และเป้าหมายด้านความยั่งยืน พร้อมทั้งประกาศเป็นแนวทางให้แต่ละกลุ่มธุรกิจนำไปปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2030 ร่วมกัน