การจับมือครั้งใหญ่ของ Tencent – Alibaba บทพิสูจน์ คู่แข่งก็จับมือกันได้เมื่อภัยมา

กำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งเกิดขึ้นในโลกอีคอมเมิร์ซของจีนแผ่นดินใหญ่เร็ว ๆ นี้ เมื่อมีรายงานจาก The Wall Street Journal ว่าสองยักษ์ซึ่งเป็นคู่แข่งขับเคี่ยวกันมานานอย่างอาลีบาบา (Alibaba) และเท็นเซนต์ (Tencent) กำลังตัดสินใจ “เปิดแพลตฟอร์มให้อีกฝ่ายเข้ามาใช้งานได้” อย่างเป็นทางการ

ยกตัวอย่าง สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนี้ คือ การที่ผู้ใช้แอปวีแชท เพย์ (WeChat Pay) ของ Tencent สามารถใช้แอปดังกล่าวไปช้อปปิ้งในเว็บไซต์เถาเป่า (Taobao) – ทีมอลล์ (Tmall) ของอาลีบาบาได้ ในทางกลับกันแบรนด์ของอาลีบาบาก็สามารถเข้ามาปรากฏตัวในมินิโปรแกรมของ WeChat ได้เช่นกันด้วย

ความเปลี่ยนแปลงนี้ใหญ่ขนาดไหน ถ้าเทียบกับที่บ้านเราก็อาจเทียบได้กับ Lazada เปิดให้ผู้ใช้จาก Shopee เข้ามาใช้ช้อปปี้เพย์จ่ายเงินบนแพลตฟอร์มของตัวเอง หรือเอไอเอส – ดีแทค – ทรู จับมือกันให้นำพอยต์ของทางค่ายไปใช้ซื้อกาแฟในรีวอร์ดโปรแกรมของคู่แข่งกันเลยทีเดียว (แค่ยกตัวอย่างให้เห็นภาพนะคะ)

อย่างไรก็ดี หากการดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็อาจเรียกว่ามาได้ถูกจังหวะ เพราะอาจเป็นตัวช่วยให้รัฐบาลจีนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผ่อนปรนความเข้มงวดที่มีกับบริษัทเทคโนโลยีในจีนลงก็เป็นได้ หรือในส่วนของตัวบริษัทเอง การร่วมมือกันดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ทั้ง Alibaba และ Tencent เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เช่น ข้อมูลผู้ใช้งานของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน

แต่ในมุมของนักลงทุน (ซึ่งแน่นอนว่าไม่น้อยเป็นบริษัทจากตะวันตก) มีการวิเคราะห์กันว่า พวกเขาไม่ค่อยโอเคกับสิ่งนี้ เนื่องจากสมัยก่อน ตอนที่ Alibaba และ Tencent ยังแยกวงใครวงมัน สิ่งที่นักลงทุนได้รับก็คือผลกำไรที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากการดำเนินงานของแพลตฟอร์ม (เพราะ WeChat Pay ก็จะเป็นทุกอย่างสำหรับผู้ใช้งานที่อยู่ใน Ecosystem ของ Tencent ตั้งแต่ซื้อกาแฟไปจนถึงซื้อเกม แต่ถ้าหากบริการ Alipay ของ Alibaba ข้ามเข้ามาได้ ค่าธรรมเนียมบางอย่างที่ WeChat เคยเก็บจากผู้ประกอบการก็อาจไม่สามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกต่อไป หรือคนที่เคยเห็นแต่โปรดักท์ของ Tencent ก็อาจเริ่มมองเห็นโปรดักท์อื่น ๆ ของ Alibaba จากการข้ามแพลตฟอร์มนี้ไปด้วย เป็นต้น)

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์รายหนึ่งเผยกับ The Drum ว่า หากการตัดสินใจของ Tencent – Alibaba เกิดขึ้นจริง ก็ต้องยกให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตลาดจีน และคงไม่ใช่วิธีที่จะนำไปเป็นตัวอย่างให้บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาที่มีประเด็นขัดแย้งกันอยู่นำไปใช้ตามได้แต่อย่างใด

https://www.brandbuffet.in.th