เครือซีพี ผลักดัน “เข้ม” อสพ. เกษตรรุ่นใหม่ สู่ Young Smart Farmer จ.อุดรธานี พร้อมพัฒนาเกษตรกรรมไทยสู่ความยั่งยืน

จากพนักงานออฟฟิศ สู่เกษตรกรรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนเกษตรกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี

เอกชัย ภาโนมัย หรือ “เข้ม” วัย 28 ปี เคยเป็นหนุ่มเมืองกรุงที่จบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจการเงิน จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต แต่เลือกหันหลังให้กับชีวิตที่สะดวกสบายในเมืองหลวง แล้วกลับบ้านเกิดที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อสานต่ออาชีพเกษตรกรรมของครอบครัว โดยมีแรงบันดาลใจจากพ่อแม่ที่ทำสวนมะม่วงส่งออก และความฝันที่จะพัฒนาเกษตรกรรมไทยให้ยั่งยืน

“กรุงเทพฯ ไม่ใช่ตัวตนของผม ผมเติบโตมากับการเกษตร และเห็นว่ามันยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้มากกว่านี้” เข้มกล่าวถึงเหตุผลในการกลับมาทำเกษตรกรรมที่บ้านเกิด

ปัจจุบัน “เข้ม” ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครพัฒนาชุมชน (อสพ.) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในโครงการลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับอาชีพและรายได้เกษตรกร โดยความร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดก้าวหน้า

การทำงานในฐานะ “อสพ.” สู่ Young Smart Farmer

การทำงานในฐานะอาสาสมัครพัฒนาชุมชน (อสพ.) เปิดโอกาสให้เข้มได้เรียนรู้แนวทางการพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมอย่างรอบด้าน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำเกษตร เขาได้มีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ ของเครือซีพี ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เขาเรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ ในการเพาะปลูก แต่ยังทำให้มองเห็นภาพรวมของการพัฒนาเกษตรกรรมในระดับชุมชน และตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในการปรับปรุงวิธีการผลิต

“การทำงานเป็น อสพ. ของเครือซีพี ทำให้ผมเข้าใจถึงการสนับสนุนและการพัฒนาทางเลือกที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรในชุมชนมากขึ้น ผมได้เรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ การจัดการ และเทคโนโลยีการผลิตผักมูลค่าสูงในระบบโรงเรือน ซึ่งต่อยอดมาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตนเองเป็น Young Smart Farmer” เข้มเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานในโครงการฯ

การมีโอกาสได้รับคัดเลือกเป็น Young Smart Farmer

ประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่และการเรียนรู้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากเครือซีพี ทำให้เข้มได้รับการคัดเลือกเป็น Young Smart Farmer จังหวัดอุดรธานี โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งถือเป็นการยอมรับถึงศักยภาพและความตั้งใจจริงในการพัฒนาเกษตรกรรม โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิต รวมถึงการนำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการมาปรับใช้จริงในสวนมะม่วงของตนเอง

การนำความรู้ด้านบริหารธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการเกษตร

จุดแข็งของเข้ม คือการนำความรู้จากการศึกษาด้านบริหารธุรกิจมาปรับใช้ในการวางแผนเกษตรอย่างเป็นระบบ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยี เช่น ระบบพยากรณ์อากาศ และระบบน้ำหยด เพื่อช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มผลผลิต และยกระดับคุณภาพของผลผลิตให้แข่งขันได้

“การเกษตรในยุคนี้ต้องการความแม่นยำและมีประสิทธิภาพ เราต้องใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีมาเสริมในการตัดสินใจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด”

สร้างเครือข่ายกับเกษตรกรรุ่นใหม่

ในฐานะหนึ่งในสมาชิกของโครงการ Young Smart Farmer เข้มได้รับโอกาสในการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ เขายังได้สร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งซึ่งช่วยให้การทำงานของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น

“โครงการ Young Smart Farmer เปิดโลกทัศน์ของผมจริง ๆ ผมได้พบกับเกษตรกรที่มีความรู้และแรงบันดาลใจที่แรงกล้า ซึ่งทำให้ผมได้รับประสบการณ์และเทคนิคใหม่ ๆ ที่นำมาปรับใช้ในสวนของตัวเอง” เข้มเล่าถึงการเข้าร่วมโครงการที่เปลี่ยนแปลงมุมมองของเขา

แบ่งปันความรู้สู่ชุมชน

เข้มไม่ได้เก็บความรู้ไว้เพียงลำพัง แต่ยังตั้งใจถ่ายทอดสู่เกษตรกรในชุมชน โดยเฉพาะการจัดการโรงเรือน การป้องกันโรคและแมลง และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ผมอยากให้เกษตรกรในชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ผมอยากให้พวกเขาพัฒนาอาชีพการเกษตรให้ยั่งยืน และมีกำไรจากการทำเกษตรอย่างจริงจัง” เข้มกล่าวถึงความตั้งใจในการช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชน

เป้าหมายในอนาคต

เข้มตั้งใจจะพัฒนาตนเองให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมะม่วง พร้อมสร้างจุดรวบรวมผลผลิตคุณภาพดีเพื่อส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าการเกษตรไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก หากมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย และเกษตรกรร่วมมือกันอย่างจริงจัง “เราต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ และร่วมมือกันระหว่างเกษตรกร เพื่อให้เราสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”

รับมือกับความท้าทายจากโลกร้อน

สภาพอากาศที่ร้อนจัดและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศกลายเป็นอุปสรรคที่เกษตรกรยุคใหม่ต้องเผชิญ เข้มเชื่อว่าเทคโนโลยี เช่น ระบบโรงเรือนและระบบน้ำหยด คือคำตอบที่จะช่วยให้ปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ “เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลง เราต้องปรับตัวและใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาโลกร้อน”

เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้มุ่งมั่นสู่เกษตรกรรมยั่งยืน

“เข้ม” จึงไม่เพียงแต่เป็นเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่น แต่ยังเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่รวมเอาความรู้ เทคโนโลยี และจิตวิญญาณของผู้พัฒนาชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้เกษตรกรรมไทยก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง