เป้าหมาย Net Zero ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นทิศทางการขับเคลื่อนโลกและประเทศไทยเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ บนเส้นทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ต้องคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
ในปัจจุบันทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจชั้นนำที่เป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT ซึ่งเป็นเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact โครงการสำคัญของสหประชาชาติ ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าไม่เกินปี ค.ศ. 2070
“ซีพี ออลล์” ดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม
“บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน)” ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจชั้นนำในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายชัดเจนในการทำธุรกิจที่ยึดมั่นกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชน สังคม และมีธรรมภิบาลในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างชัดเจน
โดยมีนโยบายในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อความยั่งยืน ภายใต้กรอบ ESG 2022 (Environmental, Social and Governance : ESG) รวมทั้งยังได้ร่วมประกาศเป้าหมายที่จะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2050
7 Go Green สิ่งแวดล้อม 24 ชม.
“คำภีร์ เมตตา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักปฏิบัติการศูนย์กระจายสินค้าต่างจังหวัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ซีพี ออลล์ เป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่ายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกอบธุรกิจ ร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น และธุรกิจอื่นๆ ซึ่งทุกธุรกิจได้ร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย “เซเว่น โก กรีน” (7 Go Green) เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมง
“โครงการดังกล่าว มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน สังคมและประเทศ มุ่งเน้นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดใช้พลังงาน และการลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก ตลอดจนมุ่งสร้างความตระหนักรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบไปด้วย Green Store, Green Packaging, Green Living, Green Logistics” คำภีร์ กล่าว
4 Green ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในแต่ละ Green จะมีการดำเนินงานแตกต่างกันออกไป อย่าง Green Store เป็นการบริหารจัดการร้านและการออกแบบให้ประหยัดพลังงาน ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยในการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ Green Packaging การดำเนินงานภายใต้นโยบายและแนวปฎิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งหวังในการลดปริมาณการใช้ Single-use plastic ที่ส่งเข้ากระบวนการฝังกลบน้อยที่สุด ผ่านแนวคิด “ลด ละ เลิก” รวมทั้งการคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนแนวคิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
โดยปัจจุบัน ได้เพิ่มชนิดของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาจำหน่ายในร้านเซเว่นฯ กว่า 30 รายการ เช่น แก้วกระดาษย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม้คนกาแฟ ถุงกระดาษ หลอดกระดาษ หลอดย่อยสลายได้ ฝายกดื่ม เป็นต้น
Green Living : การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ลดปริมาณขยะพลาสติก ทั้งนี้ ซีพี ออลล์ ได้สานต่อโครงการ “ลดและทดแทน” เพื่อส่งเสริมลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เช่น โครงการลดวันละถุง คุณทำได้ เชิญชวนให้ทุกคนปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติกที่ร้านเซเว่นฯ เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นเงินสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลกว่า 200 ล้านบาททั่วประเทศ
ส่วน Green Logistics : การพัฒนานวัตกรรมด้านการขนส่ง และการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงานผ่านโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและออกแบบศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กลยุทธ์ “โลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม”
เส้นทางขนส่งสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อม
“คำภีร์” เล่าต่อว่าปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้ารวม 36 แห่งทั่วประเทศ โดยในปี 2565 ได้ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7,197.83 ตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า หรือ 15,476.7 เมกะวัตต์-ชั่วโมง/ปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 165,508 ต้น/ปี
“ซีพี ออลล์” ตระหนักถึงความสำคัญและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมต่อชุมชนและประเทศชาติ ด้วยปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” เพื่อโลกที่สวยงาม
“Green Logistics เป็นกระบวนการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ที่มุ่งเน้นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ อาทิเช่น การเคลื่อนย้าย รวบรวม จัดเก็บ กระจายสินค้า ซึ่งในวันนี้ประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องสำคัญที่หลายๆ องค์กรกำลังขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง” คำภีร์ กล่าว
ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven) เป็นร้านสะดวกซื้อที่ทุกคนคุ้นเคย และอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ช่วยให้ทุกคนสามารถเลือกซื้อของกิน ของใช้อย่างครบครันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง “ระบบขนส่ง” คือหัวใจสำคัญของร้านสะดวกซื้อ เพื่อจัดเตรียมสินค้าให้พร้อมสำหรับลูกค้าอยู่เสมอ โดยระบบทั้งหมดที่ว่าต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อน ซึ่งทีมงานเซเว่น อีเลฟเว่น ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
“ขนส่งสินค้า” ใช้พลังงานมหาศาล
ตลอดหลายปี ซีพี ออลล์ ได้ปรับเปลี่ยน พัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อให้ระบบขนส่งและกระจายสินค้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง ในขณะที่ยังคงประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม ซึ่งก็นับเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างมาก เพราะเซเว่น อีเลฟเว่น มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ
“คำภีร์” เล่าต่อไปว่า เซเว่น อีเลฟเว่น มีร้านสาขาอยู่มากกว่าหมื่นแห่ง โดยทั้งหมดรับสินค้ามาจากศูนย์กระจายสินค้าที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนั้น ความท้าทายแรกคือจะขนส่งและกระจายสินค้าอย่างไรให้ยังมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการวิ่งรถน้อยลง
“ความท้าทาย คือการบริหารจัดการศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ ในการจัดเก็บสินค้าประเภทต่างๆ เราต้องอาศัยพลังงานมหาศาล ดังนั้น พลังงานที่เลือกใช้จึงต้องเป็นประเภทที่สร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด” คัมภีร์ กล่าว
ในแต่ละวัน เซเว่น อีเลฟเว่น มีรถที่วิ่งส่งสินค้าอยู่ทั่วประเทศประมาณ 3,000 คัน โดยวิ่งจากศูนย์กระจายสินค้าแต่ละแห่งไปยังร้านสาขาในพื้นที่วันละเกือบ 8,000 เที่ยว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามักเห็นรถขนส่งสินค้าบนท้องถนนอยู่บ่อยๆ
Green Logistics นวัตกรรมขนส่งรักษ์โลก
“คำภีร์” เล่าอีกว่า การขนส่งสินค้าต้องอาศัยความคล่องตัว เพราะร้านบางสาขาอยู่ในซอยเล็กๆ บางร้านอยู่บนถนนใหญ่ก็จริง แต่มีที่ให้จอดรถขนถ่ายสินค้านิดเดียว ถ้าเลือกใช้รถปิกอัพสี่ล้อทั่วไปก็จะมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณที่สามารถบรรทุกได้ สุดท้ายจึงได้คำตอบเป็นนวัตกรรมรถสี่ล้อจัมโบ้ ซึ่งสามารถสินค้าได้มากกว่าเดิมถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์
“นอกจากใช้รถที่ขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน จำนวนรถที่ต้องใช้และจำนวนเที่ยวที่ต้องวิ่งต่อวันก็น้อยลง ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลง ซีพี ออลล์ ยังพัฒนาระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า Territory Planner เพื่อใช้กำหนดเส้นทางเดินรถที่ดีที่สุด ทำให้วิ่งสั้นลง ในเวลาที่น้อยลง Territory Planner เส้นทางใหม่ที่คำนวณจะมีระยะทางสั้นลง 5-20% ช่วยลดจำนวนรถบนท้องถนน ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนและมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม” คำภีร์ กล่าว
“อาคารเขียว” ใช้พลังงานแสงอาทิตย์
“คำภีร์” เล่าต่อว่าในส่วนของศูนย์กระจายสินค้า เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งมีขนาดใหญ่ ทาง ซีพี ออลล์ได้ให้ความสำคัญกับตัวอาคารอย่างมาก เพื่อให้ระบบที่อยู่ภายในสนับสนุนการจัดเก็บและกระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ใช้พลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง สิ่งเหล่านี้ต้องวางแผนกันตั้งแต่แรกร่วมกับผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และทีมงานอีกหลายๆ ส่วน
ด้วยขนาดที่ใหญ่โตทำให้ศูนย์กระจายสินค้าแต่ละแห่งมีพื้นที่หลังคาเยอะมาก รวมกันทั่วประเทศคือประมาณสองแสนตารางเมตร ทีมของเราจึงใช้ความกว้างขวางตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะพลังงานแสงอาทิตย์คือหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่า
“ทุกวันนี้ศูนย์กระจายสินค้าทุกแห่งของ เซเว่น อีเลฟเว่นใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาตัวเมือง 80-90% ของการใช้พลังงาน รวมทั้งยังใช้ หลอดไฟแบบสมาร์ท LED ที่จับการเคลื่อนไหวของคน โดยมันจะเปิดและปิดเองอัตโนมัติ คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน การรักษาและพัฒนาพื้นที่รอบข้าง การประหยัดน้ำ การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงสภาพอยู่สบายของผู้ใช้อาคาร” คำภีร์ กล่าว
ร้านสะดวกซื้อ จิ๊กซอร์ผู้บริโภคสู่ความยั่งยืน
การขับเคลื่อนขนส่งสีเขียว การก่อสร้างอาคารและดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ปฏิบัติงาน และได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ของ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ในระดับทอง (Gold) ส่งผลให้การดำเนินงานปี 2564 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก109 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 2,507 ต้น/ปี
ขณะที่ ในปี 2565 จะทำการติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) ในศูนย์กระจายสินค้าครบ 20 แห่ง ผลการดำเนินงานปี 2564 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3,340 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 77,669 ต้น/ปี และมีการติดตั้งไฟ LED และ Smart LED ในศูนย์กระจายสินค้า
“ซีพี ออลล์ จะไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับเป้าหมายปีนี้ ต้องการลดการปล่อยก๊าซลงให้ได้มากกว่า 7,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และทีมของเราตั้งใจที่จะไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี เพื่อผู้บริโภคและเพื่อโลกของเราทุกคน” คำภีร์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ