ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
เศรษฐกิจไทย
จับตาโลกร้อนทุบสถิติใหม่ เกษตรไทยเสี่ยงเสียหาย 2.8 ล้านล้าน
- ปัญหาภาวะโลกร้อนจากเอลนีโญในปี67 จะทุบสถิติใหม่เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม นักวิชาการเตือนภาคเกษตรไทยอาจเสียหายมากสุด กระทบผู้ผลิต-ส่งออกสินค้าเกษตรแถวหน้าโลก
- นักวิชาการชี้ว่าหากไทยไม่ทำอะไรเลยในการป้องกัน จะสร้างความเสียหายแก่ภาคเกษตรไทยในอีก 21 ปีข้างหน้า คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2.85 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะภาคใต้ และภาคตะวันออก ที่มีความเปราะบางความเสียหายมาก ส่วนหนึ่งจากหันไปปลูกพืชที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่นทุเรียนที่เป็นไม้ยืนต้น ต่างจากภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกพืชล้มลุกซึ่งมูลค่าอาจจะเสียหายน้อยกว่า
- ภาคเกษตรนอกเขตชลประทานกับในเขตชลประทาน จะพบว่าพื้นที่นอกเขตชลประทานจะมีความเสียหายมากกว่า โดยรวมคาดว่าภาคเกษตรจะเสียหายโดยเฉลี่ยต่อปีประมาณ 83,000 ล้านบาท (ฐานเศรษฐกิจ)
ททท.ดันท่องเที่ยว ยันเป้ารายได้ปี 67 สูง 3 ล้านล้านบาท
- หลังจากรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2565 หลุดเป้า ในปี 2566 ตั้งเป้าคาดว่าทำได้ 2.16 ล้านล้านบาท หรือ 91% ของเป้าหมายที่วางไว้ 2.38 ล้านล้านบาท ส่วนปี 2567 ตั้งเป้ารายได้กลับมา 100 % หรือสร้างรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท จากสถานการณ์เริ่มฟื้นตัวในปี 2565
- เมื่อปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยถึง 11.5 ล้านคนสูงกว่าเป้าที่วางไว้ 10 ล้านคนแต่รายได้ไปไม่ถึงเป้า เพราะส่วนใหญ่มาจากตลาดระยะใกล้ เที่ยวบินระหว่างประเทศยังไม่กลับมาปกติ
- ในปี 2567 ททท.จะวิเคราะห์ปีที่ผ่านมาเป็นแนวทางบริหารความเสี่ยง คาดปีหน้าหลายฝ่ายมองว่าเป็นดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน และการส่งออกมีแนวโน้มติดลบ
- ททท.ตั้งเป้าสูงเพื่อบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนไปให้ถึงเป้าหมายที่ 100% เพราะททท.มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่หากได้แค่ 70% ก็พอใจแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ)
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเตรียมเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดเป็นประวัติการณ์
- คณะกรรมการที่ปรึกษาของกระทรวงแรงงานเตรียมเสนอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ 4.3% จาก 961 เยนในปัจจุบัน สู่ระดับ 1,002 เยนต่อชั่วโมง ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 1991
- จุดประสงค์เพื่อรองรับอัตราเงินเฟ้อที่ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยค่าจ้างงานที่เป็นเงินสดของกลุ่มแรงงานทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนพฤษภาคม แต่ลดลง 1.2% เมื่อมีการปรับตามเงินเฟ้อ
- รัฐบาลคาดจะสามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ โดยมีแผนจะใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำชุดใหม่ประมาณเดือนตุลาคม ปี 2023 อย่างไรก็ตามค่าแรงในโตเกียว คานางาวะ และโอซาก้า ได้พุ่งขึ้นถึง 1,000 เยนต่อชั่วโมงภายในปีงบประมาณ 2022 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (เดอะแสตนดาร์ด)