เงินเดือนจ้างงานใหม่ในจีนลดต่ำสุด ‘กว่างโจว’ ลดฮวบ 4.5% / เงินเฟ้อตุรกีแตะ 64.8% ธ.ค. 2566 คาดพุ่งต่อเนื่องหลังรัฐบาลขึ้นค่าแรง 50% / สหรัฐฯ ขึ้นแท่นผู้ส่งออกก๊าซ LNG เบอร์ 1 ของโลก  ไทยติดท็อป 10 ผู้นำเข้าครั้งแรก

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

เศรษฐกิจจีน

เงินเดือนจ้างงานใหม่ในจีนลดต่ำสุด ‘กว่างโจว’ ลดฮวบ 4.5%

  • ค่าจ้างของแรงงานจีนตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศกำลังปรับตัวลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึง “แรงกดดันเงินฝืด” ที่เพิ่มมากขึ้นสวนทางกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงในจีน
  • เงินเดือนโดยเฉลี่ยของบริษัทที่จ้างพนักงานใหม่ใน 38 เมืองใหญ่ทั่วประเทศจีน ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ลดลง 1.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ลงมาอยู่ที่ 10,420 หยวน (ราว 5.11 หมื่นบาท) ลดลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นอย่างน้อย และยังเป็นการปรับลดลงไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน
  • ในพื้นที่กรุงปักกิ่งนั้นพบว่า ค่าจ้างปรับตัวลดลงมากถึง 2.7% เมื่อเทียบปีที่แล้ว และเป็นการลดลง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ส่วนพื้นที่ ที่พบว่ามีอัตราค่าจ้างปรับตัวลดลงมากที่สุดก็คือ พื้นที่เขตเมืองทางตอนใต้ของเมืองกว่างโจว ซึ่งลดลงถึง 4.5% เมื่อเทียบปีที่แล้ว
  • ตลาดงานไม่สดใสจะกระทบต่อการตัดสินใจใช้จ่าย และกลายเป็นแรงกดดันต่อราคาผู้บริโภคในจีน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดอยู่แล้วในรอบ 3 ปี ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากเรื่องนี้อาจลุกลามไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยทำให้ครัวเรือนชะลอการตัดสินใจซื้อบ้าน และหลีกเลี่ยงการกู้ซื้อบ้านไปก่อน  (กรุงเทพธุรกิจ)

เศรษฐกิจตะวันออกกลาง

เงินเฟ้อตุรกีแตะ 64.8% ธ.ค. 2566 คาดพุ่งต่อเนื่องหลังรัฐบาลขึ้นค่าแรง 50%

  • “อัตราเงินเฟ้อ” ของตุรกีในเดือนธ.ค. อยู่ระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของธนาคารกลาง โดยสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 64.8% ในเดือนธ.ค. เทียบกับ 62% ในเดือนก่อนหน้า
  • อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของตุรกีสอดคล้องกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางและรัฐบาลกำหนดไว้ บลูมเบิร์ก เผยว่า เป็นสิ่งที่มักไม่เกินขึ้นในประเทศที่การคาดการณ์อย่างเป็นทางการมักได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “มองโลกในแง่ดีมากเกินไป”
  • การตัดสินใจเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลเกือบ 50% นับเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นทะลุระดับปัจจุบันได้ โดยเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ในเส้นทางที่ธนาคารกลางมองว่า ต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดทางการเงินต่อไป หลังจากการขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้งติดต่อกันทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น 34% นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. (กรุงเทพธุรกิจ)

พลังงาน

สหรัฐฯ ขึ้นแท่นผู้ส่งออกก๊าซ LNG เบอร์ 1 ของโลก  ไทยติดท็อป 10 ผู้นำเข้าครั้งแรก

  • ที่ผ่านมาผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกมี 2 ประเทศ คือ ออสเตรเลียและกาตาร์ ส่วนผู้นำเข้ารายใหญ่ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเดือนตุลาคมไทยนำเข้าพุ่งสูงขึ้น 25% ส่งผลให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG 10 อันดับแรกของโลกเป็นครั้งแรก
  • การส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งรายเดือนและรายปีในปี 2566 ส่งผลให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้ส่งออก LNG รายใหญ่ที่สุดของโลก ตามด้วยกาตาร์และออสเตรเลียที่เป็นผู้ส่งออก LNG รายใหญ่ในปีที่ผ่านๆ มา
  • ปัจจัยหลักที่สหรัฐฯ ถูกบันทึกสถิติมากเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ นอกจากอุปทานโลกที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นแล้ว สหรัฐฯ ยังได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยนั่นคือ Freeport LNG เริ่มกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบ โดยมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นถึง 6 ล้านตัน บวกกับปริมาณการผลิตของโรงงานหลักอย่าง Calcasieu Pass ของ Venture Global LNG ที่เพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านตัน
  • ยุโรปยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับการส่งออก LNG ของสหรัฐฯ ตามด้วยเอเชียเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 และน่าสนใจว่าปีที่ผ่านมามีการส่งออกก๊าซ LNG มายังเอเชียถึง 2.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 18.5% (เดอะแสตนดาร์ด)