ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
ภูมิรัฐศาสตร์
จับตา 7 ความขัดแย้งโลกปี 67 สะเทือนศก. – ความมั่นคงมนุษย์
- เว็บไซต์ไครสิสกรุ๊ป สรุปประเด็นความขัดแย้งทั่วโลกที่น่าจับตาในปี 2567 ทั้งยังคาดการณ์แนวโน้มความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ร่วมด้วย
- อิสราเอล-ฮามาส: มีความเป็นไปได้น้อยที่อิสราเอลจะสามารถกำจัดฮามาสให้สิ้นซากตามคำกล่าวของ’เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกรัฐมนตรีอิสราเอล การต่อต้านด้วยการใช้อาวุธจะดำเนินต่อไป ขณะที่การยึดครองพื้นที่ยังคงอยู่ และรัฐบาลวอชิงตันอาจผลักดันให้สงบศึกอีกครั้ง
- ตะวันออกกลาง: สงครามอิสราเอล-ฮามาสเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับอิหร่าน เพราะรัฐบาลเตหะรานกำลังพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐ อาทิ ชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และให้ความร่วมมือในด้านการตรวจสอบ แลกกับการให้สหรัฐผ่อนปรนการใช้มาตรการค่ำบาตร แต่สงครามในฉนวนกาซาทำให้อิหร่านเข้าสู่ภาวะตกต่ำ นอกจากนี้ ความตึงเครียดที่น่ากังวลอีกอย่างคือ กลุ่มติดอาวุธในซีเรียและอิรักเข้าโจมตีฐานทัพสหรัฐหลายครั้ง รวมถึงกบฎฮูตีในเยเมนที่โจมตีอิสราเอลและเรือพาณิชย์ในทะเลแดง
- รัสเซีย-ยูเครน: การรุกตอบโต้ของยูเครนไม่ค่อยคืบหน้า เข้าควบคุมพื้นที่ได้น้อย ขณะที่รัสเซียกำลังขยายกองทัพ และใช้จ่ายทางทหารอย่างมหาศาล แม้ถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แต่มีรายได้จากการส่งออกเพียงพอ ด้วยอานิสงส์จากกำไรในภาคพลังงาน และ ความไม่ลงรอยกันระหว่างยูเครนและชาติตะวันตกอาจเห็นได้ชัดมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่น่าหนักใจคือ ความลังเลในการสนับสนุนยูเครนของชาติตะวันตก
- สหรัฐ-จีน: การแข่งขันระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่มีท่าทีลดลง จีนยังคงมีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับประเทศชายฝั่งทะเลต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ขณะที่สหรัฐ รับรองความปลอดภัยให้ฟิลิปปินส์และแสดงตนทางทหารในภูมิภาคดังกล่าวมากขึ้น ส่วนความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และการเลือกตั้งไต้หวันที่อาจได้’วิลเลียม ไล่’ รองประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน ผู้หนุนสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี อาจจุดชนวนความขัดแย้งเพิ่ม
- เมียนมา: รัฐบาลทหารเมียนมายังคงมีอำนาจต่อไป ขณะที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จำนวนมากในประเทศ และกองกำลังต่อต้านหลังการทำรัฐประหารไม่อาจรวมกลุ่มกันได้ แต่รัฐบาลเมียนมายังคงเผชิญกับศัตรูหลายด้าน และยากที่จะเห็นวิกฤติสิ้นสุดในเร็ววัน
- ภูมิภาคซาเฮล: ความโกรธเคืองของประชาชนเกี่ยวกับความไม่มั่นคงในภูมิภาคซาเฮล จุดชนวนให้เกิดรัฐประหารและสนับสนุนผู้นำเผด็จการทหาร ไครสิสมองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาซาเฮลในอนาคตคือ ความไม่แน่นอน ใครก็ตามที่กุมอำนาจในซาเฮลต้องดำเนินการมากกว่าทำการสู้รบ ขณะที่การรุกรานอาจนำมาซึ่งผลประโยชน์ในระยะสั้น แต่ความสงบสุขจะขึ้นอยู่กับการเจรจาและข้อตกลง
- อาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน: ยังมีความขัดแย้งเรื่องพรมแดนที่ยังไม่ได้แบ่งเขต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน แต่การเจรจาของทั้งสองประเทศอาจมีโอกาสช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น (กรุงเทพธุรกิจ)
อีคอมเมิร์ซ
‘Lazada’ ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซประกาศลดพนักงานทั่วอาเซียน
- CNBC เปิดเผยรายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในที่ระบุว่า Lazada ได้เริ่มดำเนินการปลดพนักงานของบริษัทตั้งแต่วันพุธที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา โดยการปลดพนักงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินนโยบายเชิงรุกท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ดุเดือด
- การปลดพนักงานในรอบนี้มีจำนวนมากกว่าหลายร้อยคน ครอบคลุมพนักงานในทุกระดับชั้น และในทุกตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ Lazada ดำเนินกิจการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศไทย โดยที่สิงคโปร์ได้รับผลกระทบมากที่สุด
- Lazada ได้ออกแถลงการณ์ต่อข่าวที่เกิดขึ้นว่า บริษัทต้องปรับจำนวนพนักงานเพื่อทำการปรับเปลี่ยนองค์กรในเชิงรุกและเพื่อให้บริษัทมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับแนวทางการทำงานที่คล่องตัวเพื่อรับมือกับความจำเป็นด้านธุรกิจในอนาคต โดยโฆษกยืนยันว่าการปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จำเป็นจริงๆ
- ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดกับ TikTok, Shopee และคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูเหมือนว่า Lazada จะยังไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นได้สักเท่าไรนัก จนทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่อีกครั้งในที่สุด (เดอะสแตนดาร์ด)