ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ
Grab จ่อทุ่ม 7 พันล้านดอลล์ เทคโอเวอร์ GoTo หวังลดขาดทุนในตลาดแข่งขันสูง
- สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า บริษัท แกร็บ โฮลดิ้งส์ จำกัด (Grab Holdings Ltd.) กำลังพิจารณาควบรวมกิจการกับคู่แข่งอย่าง โกทู กรุ๊ป (GoTo Group) ในมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อต้องการยุติการขาดทุนหลายปีในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการแข่งขันสูง
- รวมทั้งอีกหนึ่งในแผนที่กำลังพูดคุยกันคือ การเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของโกทูในราคาที่สูงกว่า 100 รูเปียห์ต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบันราว 20%
- ทั้งสองบริษัทเล็งเห็นว่าปี 2568 น่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะในการทำดีล ทั้งสองบริษัทซึ่งเป็นผู้นำตลาดแอปเรียกรถในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พูดคุยเรื่องนี้กันมานานหลายปีแล้ว โดยหวังว่าการควบรวมกิจการจะช่วยลดต้นทุน และบรรเทาการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดที่มีผู้บริโภคกว่า 650 ล้านคน
- ขณะเดียวกัน คู่แข่งรายใหม่ในท้องถิ่น เช่น ทรานส์-แคป (Trans-Cab) ในสิงคโปร์ และคู่ระดับนานาชาติ เช่นโบลต์ (Bolt) อินไดรฟ์ (inDrive) และลาลามูฟ ไรด์ (Lalamove Ride) ก็กำลังขยายกิจการในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งยิ่งทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น
- แหล่งข่าวระบุว่า ที่ผ่านมา การควบรวมกิจการติดขัดจากหลายสาเหตุ ทั้งความเห็นไม่ตรงกันของทั้งสองฝ่าย และความกังวลเรื่องการผูกขาดตลาด เพราะทั้งสองบริษัทต่างก็มีอิทธิพลสูงในตลาดอย่างอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ การเจรจาครั้งนี้อาจไม่สำเร็จก็เป็นได้ (กรุงเทพธุรกิจ)
ภูมิรัฐศาสตร์
อาร์เจนตินาเตรียมถอนตัวจาก WHO ตาม “ทรัมป์”
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปธน.ทรัมป์ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีฆาบิเอร์ มิเลย์ ผู้นำอาร์เจนตินา ได้นำสหรัฐฯ ออกจาก WHO ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ม.ค.
- อาดอร์นีกล่าวว่า ปธน.มิเลย์ประกาศถอนอาร์เจนตินาจาก WHO โดยมีเหตุผลว่า เขา “ไม่เห็นด้วย” กับวิธีการจัดการปัญหาสุขภาพของ WHO โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาดใหญ่
- นอกจากนี้ โฆษกประธานาธิบดีอาร์เจนตินายังได้ระบุถึง “การขาดความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองของรัฐอื่น” อีกด้วย
- ด้านปธน.ทรัมป์ เคยให้เหตุผลในการถอนตัวว่า WHO จัดการกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และวิกฤตด้านสุขภาพระหว่างประเทศอื่น ๆ ไม่เหมาะสม ทั้งยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนรายใหญ่ที่สุด จ่ายเงินมากเกินควรด้วย (สำนักข่าวอินโฟเควสท์)
เศรษฐกิจไทย
KKP เปิด 3 เหตุผล ทำให้ ‘เงินหมื่นเฟสแรก’ ได้ผลน้อยกว่าคาด
- KKP Research เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่อง ‘KKP แจงสาเหตุเศรษฐกิจไทยโตต่ำ แม้แจกเงิน-ส่งออก-ท่องเที่ยวฟื้นตัว’ โดยในบทความดังกล่าว KKP Research ประเมินว่า จากข้อมูลการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา พบว่า จำนวนเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภคใหม่คิดเป็นไม่ถึง 10% ของเงินที่แจกไป
- 3 เหตุผลสำคัญที่ทำให้มาตรการแจกเงินของรัฐได้ผลน้อยกว่าที่หวังไว้ มีดังนี้
- 1.) เงินที่ได้รับไปไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายใหม่ในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมีแนวโน้มที่ระดับหนี้ครัวเรือนสูง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้น้อยจะลดประสิทธิภาพของนโยบายแจกเงินลง เนื่องจากเงินบางส่วนไม่ได้ถูกนำไปใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถูกนำไปใช้เพื่อการชำระหนี้
- 2.) การใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sectors) ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของเศรษฐกิจนอกระบบคือ ภาครัฐไม่สามารถวัดข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายในตลาดชนบทต่างจังหวัด
- 3.) ปัจจัยเศรษฐกิจอื่นๆ ยังอยู่ในทิศทางขาลง ไม่สนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน โดย KKP Research ประเมินว่า ทิศทางการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้แม้มีการแจกเงินแต่ไม่พอชดเชยปัจจัยลบอื่นๆ (เดอะสแตนดาร์ด)