สหรัฐฯ เผย มากกว่า 50 ประเทศขอเจรจา “ทรัมป์” หลังประกาศเก็บภาษี / อียูผนึกกำลังลงมติตอบโต้ภาษีทรัมป์ / มาเลเซียผนึกกำลังอาเซียนหารือการตอบโต้ภาษีทรัมป์

ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ

การค้าโลก

สหรัฐฯ เผย มากกว่า 50 ประเทศขอเจรจาทรัมป์หลังประกาศเก็บภาษี

  • เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) ว่า มีมากกว่า 50 ประเทศติดต่อมายังทำเนียบขาว เพื่อขอเปิดการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้าครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • คณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทรัมป์พยายามปกป้องนโยบายภาษีดังกล่าว โดยชี้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการปรับบทบาทของสหรัฐฯ ในระบบการค้าโลก พร้อมพยายามลดความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
  • ขณะเดียวกัน สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการภาษีเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) มีรัฐบาลจากกว่า 50 ประเทศติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจาทางการค้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ อยู่ในสถานะที่มีอำนาจต่อรอง
  • อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศหรือรายละเอียดของการเจรจาใด ๆ แต่การเจรจากับหลายสิบประเทศในเวลาเดียวกัน อาจเป็นความท้าทายในแง่การบริหารจัดการสำหรับรัฐบาลทรัมป์ และยังไม่ชัดเจนว่ากระบวนการนี้จะใช้เวลานานเพียงใด (สำนักข่าวอินโฟเควสท์)

อียูผนึกกำลังลงมติตอบโต้ภาษีทรัมป์

  • รอยเตอร์รายงาน 27 ชาติอียู ถูกสหรัฐเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมและรถยนต์ ในอัตรา 25% ไปแล้ว และตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. จะถูกเก็บภาษี “ตอบโต้” ในอัตรา 20% จากสินค้าอื่นๆ เกือบทั้งหมด
  • ดึกวันที่7 เม.ย. คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรประสานนโยบายการค้าอียูเตรียมเสนอบัญชีรายชื่อสินค้าสหรัฐที่จะถูกเก็บภาษีพิเศษตอบโต้การเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ครอบคลุมสินค้าสหรัฐหลายชนิด อาทิ เนื้อ, ซีเรียล, ไวน์, ไม้, เสื้อผ้า, หมากฝรั่ง, ไหมขัดฟัน, เครื่องดูดฝุ่น และกระดาษชำระ ยังไม่ใช่การเก็บภาษีตอบโต้ reciprocal tariff ที่ทรัมป์เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน
  • ความเคลื่อนไหวของอียูเท่ากับเป็นการผสมโรงจีนและแคนาดา เก็บภาษีตอบโต้สหรัฐ ที่บางคนเกรงว่าอาจขยายวงเป็นสงครามการค้าโลก ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย
  • นักการทูตอียูหลายรายเผยว่า วัตถุประสงค์หลักของการประชุมคือได้สารอันเป็นเอกภาพถึงความปรารถนาเจรจากับรัฐบาลวอชิงตันให้ยกเลิกภาษี แต่ถ้าไม่สำเร็จก็พร้อมตอบโต้
  • อย่างไรก็ตาม หากอียูมีมาตรการภาษีตอบโต้ออกมาก็ต้องนำมาลงมติกันในวันพุธ (9 เม.ย.) และจะผ่านความเห็นชอบยกเว้นในกรณีที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ คือ สมาชิกอียู15 ประเทศซึ่งเป็นตัวแทน 65% ของประชากรอียูคัดค้าน (กรุงเทพธุรกิจ)

มาเลเซียผนึกกำลังอาเซียนหารือการตอบโต้ภาษีทรัมป์

  • เว็บไซต์นิกเคอิรายงาน นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวผ่านคลิปวีดิโอเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อกลางดึกวันอาทิตย์ (6 เม.ย.) ว่า
  • ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในกลุ่มโดนภาษีใหม่ของสหรัฐเล่นงานหนักที่สุด กัมพูชาถูกเก็บภาษี 49% เวียดนาม 46% ซึ่งการเก็บภาษีศุลกากรหว่านแหแบบนี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก “จุดเริ่มต้นของความท้าทายยิ่งใหญ่กว่า” ในสภาพแวดล้อมภายนอก
  • “มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน จะเป็นผู้นำความพยายามแสดงให้เห็นความเป็นเอกภาพของภูมิภาค รักษาห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นเปิดกว้าง และทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเสียงร่วมกันของอาเซียนจะถูกรับฟังอย่างชัดเจนและหนักแน่นในเวทีระหว่างประเทศ” อันวาร์กล่าวและว่า นายซาฟุรล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมมาเลเซีย จะประชุมกับรัฐมนตรีการค้าของสมาชิกอาเซียนในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) เพื่อ “กำหนดและจัดวางจุดยืนของเราให้ตรงกัน” โดย ก่อนหน้านั้นอันวาร์คุยกับผู้นำฟิลิปปินส์ บรูไน และสิงคโปร์ หารือเรื่องการตอบสนองร่วมกันของอาเซียนแล้ว
  • “เราควรยืนหยัดในฐานะกลุ่มใหญ่ อาเซียนมีประชากร 640 ล้านคน ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับชั้นนำของโลกเมื่อรวมเข้าด้วยกันถือเป็นภูมิภาคที่สงบมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือทั่วโลกด้วย” อันวาร์กล่าว (กรุงเทพธุรกิจ)