ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
การค้าโลก
สหรัฐฯ เริ่มสอบสวนการนำเข้ายาและชิป ส่งสัญญาณใช้มาตรการภาษี
- Federal Register ซึ่งเป็นประกาศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ประกาศเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เริ่มกระบวนการสอบสวนการนำเข้ายาและเซมิคอนดักเตอร์แล้ว เพื่อหาทางใช้มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าทั้งสองประเภทนี้
- ความเคลื่อนไหวมีขึ้น หลังสหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้า 10% ไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย. แต่ยังยกเว้นยาและเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี ทรัมป์ได้กล่าวว่าสินค้าเหล่านี้จะถูกพิจารณาเก็บภาษีแยกต่างหาก
- ทรัมป์กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า เขาจะประกาศอัตราภาษีนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ภายในสัปดาห์นี้ โดยอาจมีการยืดหยุ่นให้กับบางบริษัทในอุตสาหกรรมนี้
- ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เริ่มการสอบสวนภายใต้มาตรา 232 เกี่ยวกับการนำเข้าทองแดงและไม้ ขณะที่ผลจากการสอบสวนในสมัยแรกของทรัมป์ได้นำไปสู่การกำหนดอัตราภาษีที่เริ่มใช้ไปแล้ว ทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม และอุตสาหกรรมยานยนต์
- ที่ผ่านมานั้น สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าชิปจากไต้หวันเป็นอย่างมาก ขณะที่บริษัทผู้ผลิตยาได้ออกมาโต้แย้งว่าการเก็บภาษีนำเข้าอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดแคลนยาและลดโอกาสการเข้าถึงยาของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังคงผลักดันมาตรการนี้ โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีการผลิตยาภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการจัดหายาจากต่างประเทศ (สำนักข่าวอินโฟเควสท์)
คืบหน้า! ทีมไทยลุยเจรจาสหรัฐ หวังหาทางออก “ภาษีทรัมป์“
- นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2568 ถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของคณะผู้แทนรัฐบาลไทยในการเดินทางไปเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือแนวทางรับมือมาตรการภาษีนำเข้าที่สหรัฐเตรียมบังคับใช้ โดยไทยอาจได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีใหม่สูงถึง 36% ภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
- ทั้งนี้ คณะผู้แทนไทยจะนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกเดินทางล่วงหน้าในวันที่ 17 เมษายน ไปยังซีแอตเทิล เพื่อพบกับภาคธุรกิจสหรัฐในหลากหลายกลุ่ม ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม และการลงทุน ก่อนที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าร่วมในวันที่ 20 เมษายน เพื่อเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเจรจาอย่างเป็นทางการกับตัวแทนรัฐบาลสหรัฐในวันที่ 21 เมษายนนี้
- ไทยเตรียมเสนอมาตรการ 5 แนวทางในการเจรจา ได้แก่
- 1. เน้นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านการผลิตคุณภาพสูง ส่วนสหรัฐฯ มีความสามารถด้านวัตถุดิบต้นทาง เทคโนโลยี และเกษตรกรรมระดับพรีเมียม หากเกิดความร่วมมือกัน คาดว่าจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
- 2. พร้อมเปิดตลาดและลดภาษีในสินค้าเกษตร ภายใต้ National Trade Estimate 2025 ของสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด จากสหรัฐ โดยใช้โควต้านำเข้าแบบยืดหยุ่นรักษาสมดุลให้ไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ
- 3. เพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐ ที่ไทยไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบินพาณิชย์ และผลไม้เมืองหนาว ซึ่งช่วยลดดุลการค้าและสร้างสมดุลในเชิงเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศ
- 4. เสนอคัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม ทั้งการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต เน้นความโปร่งใสและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้า
- 5. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปภายในสหรัฐ เพื่อลดแรงต้านทางการค้า โดยมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐ เพื่อช่วยขยาย value chain ใหม่ และลดแรงเสียดทานจากนโยบายภาษีของทรัมป์ (ฐานเศรษฐกิจ)