ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
เศรษฐกิจจีน
จีนรายงานตัวเลข GDP ไตรมาส 2 โต 6.3% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ จับตานโยบายกระตุ้น
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยการเติบโตของ GDP ของจีนประจำไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งปรับตัวขึ้น 6.3% จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 7.1%
- ขณะที่ตัวบ่งชี้ทางเศรษฐกิจต่างๆ สำหรับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สะท้อนภาพที่ดีและแย่ผสมกันไป ในฝั่งของยอดค้าปลีกและภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวดีขึ้น
- ตัวเลขหลายตัวไม่ได้ดีกว่าคาดไว้ ทำให้น่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นจากทางการจีนชัดเจนขึ้นในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เพราะตัวเลขเงินเฟ้อกำลังจะติดลบ ขณะที่ตัวเลข PMI ทั้งภาคการผลิตและบริการยังค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ดีเหมือนในอดีต
- ทางการจีนตั้งเป้าหมาย GDP ในปีนี้ที่ราว 5% แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งแนวโน้มของเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น การส่งออกที่ลดลง และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ (เดอะแสตนดาร์ด)
เทคโนโลยี
สหรัฐฯ วางแผน จำกัด การลงทุนด้านเทคโนโลยี ในจีนให้น้อยลง ภายในปี 2567
- รัฐบาล Biden มีแผนการของที่จะจำกัดการลงทุนในจีนที่มุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีล้ำสมัย เฉพาะการลงทุนใหม่ๆ และมีแนวโน้มว่าจะไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถึงปีหน้า โดยที่มีเป้าหมายเพื่อคัดกรองและอาจห้ามการลงทุนในภาคเซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และปัญญาประดิษฐ์ของจีน
- เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กโดยกล่าวว่าข้อจำกัดดังกล่าวจะ “มีเป้าหมายในวงแคบ” สิ่งนี้จะนำมาซึ่งความโล่งใจสำหรับบริษัทที่ต้องการเปิดตลาดจีน
- การควบคุมการลงทุนในจีนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในวงกว้างของสหรัฐฯ ในการจำกัดความสามารถของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งคาดว่าจะครอบงำความมั่นคงทางทหารและเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงขั้นตอนการจำกัดการขายเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงและเครื่องมือในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ (บลูมเบิร์ก)
การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ
บอร์ดแข่งขันฯ อนุมัติ ‘บางจาก’ ควบรวม เอสโซ่ ตั้งเงื่อนไขไม่กระทบคู่ค้าเดิม
- คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้มีการประเมินผลกระทบจากการควบรวมกิจการต่อเศรษฐกิจ ผู้บริโภค รวมถึงธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันในประเด็นการมีอำนาจเหนือตลาด และ เห็นชอบให้ ‘บางจาก’ ซื้อหุ้น ‘เอสโซ่’ จาก ExxonMobil ซึ่งทำให้บางจากเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ของเอสโซ่ในไทย
- การเห็นชอบให้ควบรวมกิจการได้พิจารณากำหนดเงื่อนไขให้ผู้ควบรวมกิจการต้องปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลัง โดยบางจากต้องให้ความยุติธรรมกับคู่สัญญาเดิมของเอสโซ่
- ซึ่งในประเด็นดังกล่าวจะคล้ายกับเงื่อนไขการควบรวมกิจการระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ที่กำหนดให้ซีพีคงสัญญาที่เทสโก้ โลตัส ทำกับซัพพลายเออร์ไว้ตามกรอบเวลาที่กำหนด
- บางจากได้ประเมินว่าการควบรวมกับเอสโซ่จะทำให้บางจากได้สินทรัพย์เพิ่มขึ้น ดังนี้ 1) ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน : ทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดปั๊มน้ำมัน 7.7% ซึ่งอยู่อันดับ 3 ส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปสูงสุด บางจากและเอสโซ่อยู่อันดับ 2 รวมกัน 21.4% 2) ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน : กรณีควบรวมเสร็จจะทำให้มีกำลังการกลั่นรวมวันละ 297,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นรองแค่กลุ่ม ปตท. (กรุงเทพธุรกิจ)