ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการล
ภูมิรัฐศาสตร์
จับตาสงคราม ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ขยายวง ดันราคาน้ำมันพุ่ง การค้าโลกหดตัว 10-15%
- การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสยังคงมีความยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2566 และมีแนวโน้มที่จะขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีหลายประเทศให้การสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ใช่แหล่งผลิตน้ำมันดิบสำคัญของภูมิภาค
- ด้านการค้าในตะวันออกกลางมี 15 ประเทศ เป็นตลาดที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายน้ำมัน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกน้ำมันจะส่งผลต่อการค้าโลกทำให้มูลค่าการค้าโลกชะลอลง 10-15% หากสงครามบานปลาย
- ส่วนผลกระทบต่อการค้าไทยนั้น ไทยส่งออกไปตะวันออกกลางมูลค่าหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี โดยมีตลาดใหญ่ 3 ตลาด คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดิอาระเบียและอิสราเอล โดยหากสงครามบานปลายจะส่งผลให้มูลค่าการค้าหายไป 10-15% (กรุงเทพธุรกิจ)
เศรษฐกิจจีน
ค่าเงินหยวนถูกกดดันหนัก 3 เดือนเงินไหลออกไปแล้ว 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์
- ปัญหาเงินทุนไหลออกจากจีนเริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และยังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศยังคงซบเซา โดยสถิติเงินทุนไหลออกสะสมวันที่ 7 สิงหาคม – 9 ตุลาคม รวมมูลค่า 2.21 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สำนักงานบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแห่งชาติจีน ระบุว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาธนาคารในประเทศขายสุทธิเงินหยวนออกมา 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นอัตราที่มากที่สุดหากนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนครั้งรุนแรง
- รวมไปถึงเงินทุนจากลูกค้าของธนาคารต่างๆ ไหลออกกว่า 5.39 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังต่างประเทศ ถือเป็นการไหลออกครั้งใหญ่เมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2016 หรือในรอบ 7 ปี
- ด้าน Morgan Stanley ออกมาเตือนว่า ตลาดหุ้นในประเทศเข้าสู่ช่วงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกองทุนทั่วโลกอาจเทขายไปจนกว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติม (เดอะสแตนดาร์ด)
เศรษฐกิจไทย
เปิดสถิติ ไทยใช้สิทธิ FTA ส่งออก 7 เดือน ปี 2566 พุ่ง 1.6 ล้านล้าน
- อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม – กรกฎาคม ปี 2566 มีมูลค่ารวม 46,183.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 1.66 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 74.94% ของการส่งออกทั้งหมด
- สถิติการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ดังนี้
(1) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน มูลค่า 16,487.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 72.72%
(2) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน 14,264.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 93.97%
(3) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น 3,758.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 71.66%
(4) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย 3,344.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 60.68%
(5) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย 3,085.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.44%
- ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศคู่ค้า โดยการใช้สิทธิฯ จะเป็นกุญแจสำคัญที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกไทยให้สามารถลดหรือยกเว้นภาษีศุลกากรขาเข้า ณ ประเทศปลายทางได้ (ฐานเศรษฐกิจ)