คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหาร ทรัพยากรบุคคล CP-CPF ได้รับเชิญเป็นวิทยากรเสวนา ในหัวข้อ “The NEXT MOVE to THE NEXT WORKFORCE” ในงานเสวนาเชิงวิชาการ PPCIL Virtual Forum 2021 for Change Maker – FUTURE x THE NEXT WORKFORCE จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ทักษะและสมรรถนะที่ตอบโจทย์เยาวชนรุ่นใหม่ และความต้องการภาคอุตสาหกรรม กับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา จากภาคสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่จากภาครัฐและเอกชน นำไปสู่การออกแบบนโยบายและกลไกทางการศึกษาที่เหมาะสมและสามารถตอบโจทย์กับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง และสถานการณ์ตลาดแรงงานในอนาคต
คุณพิมลรัตน์ กล่าวว่า เครือซีพี ยังต้องการใช้กำลังคน (workforce demand site) และให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษาในการช่วยออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการศึกษา พร้อมทั้งแบ่งปันมุมมองของภาคธุรกิจว่า วิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงเกิดภาวะถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังส่งผลให้ทักษะการทำงานที่จำเป็น (skill set) สำหรับองค์กรในยุคนิวนอร์มอล ไม่เพียงบัณฑิตจบใหม่ บุคลากรที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันต้องการยกระดับทักษะเดิม เพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ ให้ทันกระแสโลก เช่น ความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยี (digital literacy) ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ชั้นนำระดับโลกหลายแห่งจึงมี Corporate University ขององค์กร รวมทั้ง เครือซีพี ได้ก่อตั้ง “สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์” ขึ้น โดยพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนรู้เอง เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรและพัฒนาศักยภาพผู้นำขององค์กรให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ทั้งนี้ เครือ CP-CPF ยังต้องการทรัพยากรคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือฯ ได้รับนักศึกษาจบใหม่กว่า 2 หมื่นตำแหน่ง มาร่วมงานทุกโปรแกร, และในปีหน้าเฉพาะความต้องการบัณฑิตจบใหม่มาร่วมงานในโครงการพัฒนาผู้นำ เพิ่มอีก 5,000 อัตรา เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเติบโตและขีดความสามารถขององค์กรให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศเรามีอุปสงค์ความต้องการกลุ่ม Talent เป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมา ภาคเอกชนของไทย มีความพร้อมในการร่วมพัฒนาระบบการศึกษาของไทย เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะและคุณสมบัติตรงตามความต้องการของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรดำเนินการไปแล้ว อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ CPF ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการ KU x CPF Young Software Developer Program หรือ CPF YSDP เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติงานจริง มีประสบการณ์จริงกับภาคเอกชน มากกว่าการเรียนเชิงทฤษฎี พร้อมกับได้พัฒนา soft skill ของการทำงานอีกด้วย
นอกจากนี้ คุณพิมลรัตน์ ยังเสนอว่า ภาคการศึกษาควรมาทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เห็นถึงเป้าหมายร่วมกันออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกัน ระหว่างอุปสงค์และอุปทานความต้องการบัณฑิตใหม่ของตลาดแรงงาน ก็มั่นใจได้ว่าระยะเวลาในหลักสูตรปริญญาตรี สามารถกระชับลงได้ จบภายใน 2 ปี โดยปรับให้มีนักศึกษาทำงานจริงร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ส่วนการปรับเรื่องการประเมินผลให้มีความถี่เพิ่มขึ้น โดยให้การศึกษามีการประเมินผลแบบภาคธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบัน เครือฯ ติดตามผลทุกวันและประเมินผลทุกเดือน ซึ่งภาคการศึกษาควรพิจารณาให้รวดเร็วขึ้นแทนที่จะประเมินผลเด็กเป็นแบบรายเทอม รวมทั้งการปลดล็อคเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการศึกษา คุณพิมลรัตน์ ยังแนะนำว่า มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการดำเนินการและการอนุมัติรูปแบบในการผลิตบุคลากรที่เหมาะสมและทันกับสถานการณ์ อย่างใน CPF ได้จับมือพัฒนาหลักสูตรกับหลายมหาวิทยาลัย ระยะเวลาพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนทำได้รวดเร็วสรุปได้ภายใน 1 วัน แต่กลไกในการอนุมัติหลักสูตรใช้เวลานานไปอีก 1 ภาคการศึกษา ซึ่งหากกระบวนการดำเนินงานทำได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ วงการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
ในช่วงการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมงาน อดีตเอกอัครราชทูต คุณสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเข้าร่วมแสดงความเห็น ได้กล่าวชื่นชมเครือซีพี ในฐานะที่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างแรงงานไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น ยังมีส่วนช่วยสร้างงานในต่างประเทศ อาทิ จีน เวียดนาม โดยเฉพาะเวียดนาม เครือ CP-CPF เป็นภาคธุรกิจที่สร้างความประทับใจให้กับรัฐบาลเวียดนาม ดังนั้น เครือซีพี จึงเป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาไทย และจากที่เคยคุยกับ CP เวียดนาม และจีน ยินดีจะรับนักศึกษาไทยไปฝึกงานในต่างประเทศ
การเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ มีผู้ร่วมเสวนาเพื่อแสดงแบ่งปันประสบการณ์และมุมมอง จากสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คุณอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Office จาก SCG Cement-Building Materials ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น จัดขึ้นในโครงการ “FUTURE x THE NEXT WORKFORCE” ภายใต้หลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันเสนอความเห็นและคำแนะนำเพื่อออกแบบและสร้างกลไกทางการศึกษารูปแบบใหม่ที่มีความยืดหยุ่น และสร้างบุคลากรที่มีทักษะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศต่อไป
Cr.PR CPF