เปิดใจ จิตอาสา CPF ร่วมพลิกฟื้นผืนป่าเขาหัวโล้น เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง

“ป่าไม้” ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เพียงแต่จะมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่ในสภาวะที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาโลกร้อน พื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับการฟื้นฟูจนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ โดยการกักเก็บไว้ในต้นไม้ เป็นการลดและบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

CPF ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงร่วมกับกรมป่าไม้และชุมชน จัดโครงการ “ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เป็นโครงการ 3 ประสาน โดยภาครัฐ เอกชน และชุมชน เข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ CPF นำชุมชนลงพื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ เตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูฝน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง

คุณ“หนึ่ง” หรือคุณพนาวุธ เผือดจันทึก อายุ 46 ปี จิตอาสา CPF ผู้จัดการทั่วไป สำนักพัฒนาความสัมพันธ์องค์กรและความยั่งยืน โรงงานแปรรูปเป็ด-ไก่ CPF บางนา เล่าให้ฟังว่า เป็นจิตอาสาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เห็นสภาพพื้นที่ป่าบริเวณนี้ต้นไม้ค่อนข้างเตี้ย พื้นที่แห้งแล้ง ขาดความสมดุลของระบบนิเวศ เหมือนภูเขาหัวโล้น ต้นไม้ยืนต้นตาย ไม่มีแหล่งน้ำ พื้นดินขาดความชุ่มชื้น สัตว์ป่าไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ จนกระทั่งเกิดความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง CPF และชุมชน ช่วยกันฟื้นฟู อนุรักษ์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวกลับมายังผืนป่าแห่งนี้

“ทุกวันนี้การเข้ามาทำกิจกรรมที่เขาพระยาเดินธงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้าน ทั้งเรื่องของพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ การลงพื้นที่แต่ละครั้ง จะเห็นว่าจิตอาสาและชาวบ้านร่วมมือช่วยกันฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ขึ้น ชาวบ้านทุกคนที่นี่ รักผืนป่าเขาพระยาเดินธง อยากเห็นผืนป่านี้กลับมามีสีเขียวอีกครั้ง”

ส่วน “หนุ่ย” หรือ คุณสำเนาว์ ชวนประสิทธิ์ อายุ 54 ปี จิตอาสาธุรกิจไก่เนื้อ นครราชสีมา เล่าประสบการณ์เป็นจิตอาสาฟื้นฟูเขาพระยาเดินธงว่า ครั้งแรกที่เข้ามาในพื้นที่ เห็นความแห้งแล้ง ขาดการดูแล เดินทางเข้ามาก็ลำบาก หลังจากที่กรมป่าไม้ CPF และชุมชนรอบๆ พื้นที่ ร่วมมือกันจนเกิดโครงการดีๆ ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ฝนก็ตกตามฤดูกาล ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่อยากให้เกิดขึ้น

“ผมเข้าร่วมกิจกรรมนี้มา 3 ปีแล้ว ภูมิใจที่มาเป็นจิตอาสา ส่วนตัวเป็นคนรักธรรมชาติและรักป่าไม้ การเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เราได้แบ่งปันเรื่องราวดีๆ กับผู้อื่น ได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตร สร้างความเข้าใจและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคนในพื้นที่”

วันนี้ ผืนป่าเขาพระยาเดินธงและระบบนิเวศของป่าแห่งนี้ กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกๆ ฝ่าย ที่สำคัญ คือ ชุมชนได้ตระหนักรู้ รัก หวงแหน ร่วมปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อส่งต่อผืนป่าที่สมบูรณ์สู่รุ่นลูกหลานต่อไปโดยมีจิตอาสาซีพีเอฟมาช่วยเติมเต็ม

Cr:Pr CPF