CEO ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ร่วมงานเสวนาวิชาการ กาล่า ดินเนอร์ ทอล์ค ในหัวข้อ “MEGA TREND IN FUTURE FOOD” จัดโดย มููลนิธิพัฒนาเกษตร ม.เชียงใหม่ โดยมี คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ CEO เบทาโกร ร่วมด้วย และมี คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน CEO วี ฟู้ดส์ ในฐานะนักศึกษาเก่าคณะเกษตรศาสตร์ มช. ดำเนินรายการ ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่
ในเวทีเสวนา ได้ยกประเด็นการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่คุณค่าการผลิตอาหาร CEO ประสิทธิ์ กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการอาหาร ซึ่ง CPF ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการใช้ซอฟแวร์ AI เทคโนโลยี ช่วยลดความเสี่ยงความไม่เพียงพอของอาหาร
สำหรับเทรนด์อาหารในอนาคต อาทิ Alternative Meat ถ้าคิดง่ายๆ เดิมเราปลูกข้าวโพด แล้วข้าวโพดก็นำมาเลี้ยงสัตว์ แต่ถ้าเป็น Plant Based ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม วงจรที่หายไป คือ การเลี้ยงสัตว์ แทนที่จะเป็นจากเดิม คือ พืช มาเป็นสัตว์ สัตว์มาเป็นอาหาร วงมันหายไป มาเป็นอาหารเลย นอกจากนี้ ยังมี Cell Based ที่น่าสนใจมาก เพราะวันนี้ ประเทศไทยโดยเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรปศุสัตว์ได้พัฒนาสายพันธุ์ยกระดับตลอดเวลา CPF จะนำ Genetic ของสายพันธุ์ที่ดีมาทำ Cell Based เพียงแต่ Cell Based จากการหารือกับสตาร์ทอัพ ประมาณ 30 แห่ง คิดว่าความจริงก็ไม่ค่อยง่าย เพราะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาก แต่เชื่อว่า น่าจะเห็นเป็นรูปธรรม 8-10 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งถือเป็นอีกความหวัง เราพึ่งเทคโนโลยี เราพึ่ง Plant Based ถ้ามีทางเลือกมากขึ้น ก็มีโอกาสลดความเสี่ยงของการมีอาหารที่ไม่เพียงพอลงไป
CEO ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหาร สิ่งที่ต้องคิดแต่แรกเลยคือ การคงอยู่ของบริษัท สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ ต้องตอบโจทย์ปัญหาหรือความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง ระบบเกษตรก็จะไปตอบดีมานด์ของลูกค้า ของ Target Customer ที่จะไปทำ เช่น มีความเป็นไปได้ของความไม่เพียงพอของอาหารในอนาคตหรือไม่ เราพูดถึงการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย นี่คือปัญหาที่คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นจาก Climate Change อีกสิ่งหนี่งที่ต้องคิดคือ ลูกค้าต้องการอะไร สิ่งที่ CPF คิดหนักคือ ความต้องการของลูกค้า บางทีลูกค้าก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทฯ ที่ต้องค้นหาความต้องการนั้น
“ผมคิดว่าสังคมไทย การทานอาหารในแต่ละครั้งน้อยลง สิ่งที่ CPF คิดเพิ่มขึ้นคือ ทำอย่างไรให้คำหนึ่งคำที่ลูกค้าทาน ได้คุณค่าในคำๆ นั้นมากยิ่งขึ้น และได้ความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ความปลอดภัยของการทานอาหารแล้วรู้สึกสบายใจ ทั้งเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Practice) การพัฒนาสินค้าตัวใหม่ อาทิ ไก่เบญจา ที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง ทำให้ได้เนื้อไก่ที่นุ่ม อร่อย เป็นการตอบในแง่ดีมานด์
CPF มุ่งมั่นผลิตอาหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยมีหลักคิด คือ อาหารที่ผลิตต้องดีทั้งกายและใจ จากหลักนี้ เราก็มาดูสินค้าที่เราทำว่า 1. สิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมานั้น ลดความเสี่ยงของอาหารที่พัฒนาได้หรือไม่ เพื่อให้อาหารที่พัฒนามีความปลอดภัยสูงที่สุด 2. ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น เช่น หมูชีวา ซึ่งไขมันดี มีโอเมก้า 3 สูง และ 3. ปรุงอาหารมีความเสี่ยงกับเรื่องโรคต่างๆ น้อยลง เป็นความรับผิดชอบของบริษัทอาหารที่ต้องพัฒนาสินค้าให้ลูกค้าของเราได้บริโภคอาหารที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ ธุรกิจโปรตีนเนื้อสัตว์ในตลาดโลกมีขนาดใหญ่มาก CPF และ เบทาโกร รวมกันแล้วก็ยังมีขนาดเล็กมาก อย่างในการส่งออกเนื้อไก่ ไม่มีทางที่บริษัทใดส่งออกไปสร้างชื่อเสียงในนามของบริษัทตัวเองได้ ผู้ประกอบการไทย ต้องอาศัยแบรนด์ไทย (Thailand Brand) ในปีที่ผ่านๆ มา การส่งออกอาหารของไทยมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ดังนั้น แบรนด์ไทยสำคัญมาก ผู้ประกอบการต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะการสร้างความรับผิดชอบกับลูกค้า เรื่องคุณภาพและมาตรฐาน ช่วยกันปกป้องแบรนด์ไทย และสร้างชื่อเสียงเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร
สำหรับ ซัพพลายเชน CPF ยาวมาก ตั้งแต่เกษตรกร มีความสำคัญต่อ CPF ช่วยสนับสนุนการผลิตสินค้าที่มี “คุณภาพ” ดังนั้น บริษัทฯ ถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์พัฒนาให้เกษตรกรประสบความสำเร็จ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือคู่ค้า SME กว่า 6 พันราย มีสภาพคล่องดีขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด ลดระยะเวลาเครดิตเทอมจาก 60 วันให้สั้นลง 30 วัน ช่วยให้คู่ค้า SME มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น และยังร่วมกับ ธ.กรุงเทพ สนับสนุนให้คู่ค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ในปีหน้า บริษัทฯ ตั้งทีมวิศวกรไปช่วยเหลือ SME พัฒนาประสิทธิภาพในการผลิต นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังชวนให้คู่ค้ามาเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชั่นและสิ่งแวดล้อมต่อไป
ความคาดหวังต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยทั้งเรื่องการวิจัย การพัฒนาความรู้ต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรรม ผมเชื่อมั่น 100% ว่ามหาวิทยาลัยในไทย มีขีดความสามารถสูงทั้งเรื่องวิจัย การพัฒนาบุคลากรที่เรียนรู้เป็นลำดับขั้นตอน แต่ในการทำงานจริงจะเป็นกระบวนการย้อนกลับ จึงต้องการให้มหาวิทยาลัยเพิ่มเติมการพัฒนาให้นักศึกษารู้จักการทำงานแบบย้อนจากหลังไปข้างหน้า ดังนั้น การเปิดโอกาสให้นักศึกษาทำกิจกรรมหรือโครงการร่วมกัน ให้นักศึกษาจากต่างสาขาวิชาได้ฝึกคิดโครงการและทำงานร่วมกัน แม้หลายโครงการไม่สำเร็จแต่ก็ได้เรียนรู้จากความล้มเหลว และพัฒนาทักษะที่หลากหลาย
คำแนะนำต่อนักศึกษาที่ต้องการทำงานกับ CPF คุณ ประสิทธิ์ แนะว่า ควรมีแนวคิดสอดคล้องกับวัฒนธรรมของ CPF ที่มีความเป็น entrepreneurship สูงมาก มีความคิดเหมือนเถ้าแก่ อยากทำเรื่องใหม่ๆ มีความคิดต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน มีจิตใจเอื้อเฟื้ออยากช่วยเหลือคนอื่น และอยากพัฒนาให้ดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนภาวะเศรษฐกิจในปีหน้า CEO ประสิทธิ์ มองว่าเราได้ผ่านสถานการณ์ที่แย่ที่สุดมาแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น จีนน่าจะเปิดประเทศซึ่งส่งผลดีต่อไทย ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกบริษัทต้องเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงเรื่องพื้นฐาน ทั้งเรื่องคน การสร้างเครือข่าย การดูแลคู่ค้า เป็นต้น
Cr.PR CPF