“หนูชอบมากที่ได้มาปลูกหญ้าทะเลกับเพื่อนๆ หนูอยากให้หญ้าทะเลที่พวกเราปลูกโตเร็วๆ จะได้เป็นบ้านของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะพะยูนที่จะมีหญ้าทะเลไว้กินเยอะๆ หญ้าทะเลยังช่วยฟอกอากาศ ลดมลพิษในน้ำ ถ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำก็จะเยอะขึ้น ชาวประมงก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” น้องกนกวดี ถ่อแก้ว หรือน้องกอหญ้า นักเรียนชั้นป.5 รร.บ้านฉางหลาง อ.สิเกา จ.ตรัง เล่าขณะกำลังขะมักเขม้นปลูกหญ้าทะเล
วันนี้ น้อง ๆ นักเรียน รร.บ้านฉางหลาง ใช้เวลาวันหยุดมาร่วมกันปลูกหญ้าทะเลที่ท่าเรือหาดปากเมง ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้พะยูน ทุกคนสนุกไปกับการเรียนรู้จากพี่ ๆ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่สอนวิธีปลูกอย่างถูกต้อง ถึงแม้จะเปื้อนโคลนไปบ้าง แต่เด็ก ๆ ก็มีความสุขที่ได้ช่วยคืนความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เป็นจุดแรกของไทยที่ประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์พะยูน เพราะพะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของ จ.ตรัง ซึ่งมีพะยูนมากที่สุดในประเทศไทย
ศูนย์เรียนรู้หญ้าทะเล รร.บ้านฉางหลาง เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ จนกลายเป็นต้นแบบการอนุรักษ์พะยูนและทะเลไทย ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ โรงเรียน นักเรียน ชุมชน องค์กรต่างๆ และภาคเอกชน โดยเน้นกิจกรรมเพาะเลี้ยงและปลูกหญ้าทะเล ซึ่งช่วยให้สัตว์ทะเลมีที่อยู่อาศัยและอาหาร เป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้น้ำทะเลสะอาดขึ้น
ร่วมมือกันรักษ์ทะเลอย่างยั่งยืน … สุดใจ ตั้งคีรี ผู้อำนวยการ รร.บ้านฉางหลาง เล่าว่า การอนุรักษ์ฟื้นฟูหญ้าทะเล เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทุกคนต้องหันมาให้ความสนใจ โรงเรียนผลักดันให้นักเรียนและชุมชนร่วมกันดำเนินการเรื่องนี้มาตลอด ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและความรักในทรัพยากรธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ กิจกรรมที่ทำต่อเนื่องกว่า 6 ปี ทำให้ชาวประมงมีผลผลิตทางทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา มากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น
พลังสนับสนุนจากซีพีเอฟ … ฟาร์มอนุบาลลูกกุ้งภาคใต้ ซีพีเอฟ เข้ามาเสริมพลังให้กับโรงเรียน โดยนำอุปกรณ์มามอบให้ เช่น ถังเพาะหญ้าทะเล ระบบน้ำใหม่ ระบบไฟฟ้า และการปรับปรุงอาคาร เพิ่มกระเบื้องใสให้แสงเข้าถึงมากขึ้น อุปกรณ์ที่ติดตั้งสามารถเพาะหญ้าทะเลได้กว่า 5,000 กิ่งต่อปี และโรงเรียนต่อยอดสู่การจำหน่ายกิ่งหญ้าทะเลให้กับหน่วยงานต่างๆนำไปปลูกต่อ เกิดรายได้หมุนเวียนในโครงการ
คุณวรวัฒน์ หมั่นเรียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฟาร์มอนุบาลลูกกุ้งภาคใต้ บอกว่า ซีพีเอฟ อยากให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องหญ้าทะเลสำหรับเด็กๆ และประชาชน โดยวางแผนพัฒนาหลักสูตรการสอนเพาะหญ้าทะเล ตั้งแต่เลือกกิ่งหญ้า เตรียมน้ำและสภาพแวดล้อมก่อนการเพาะ ติดตามการเจริญเติบโต จนถึงการทำปุ๋ยบำรุงหญ้าทะเล และมีแนวคิดให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นและสาหร่ายขนนก เพื่อนำผลผลิตไปแปรรูปและจำหน่าย เป็นรายได้เสริม
ศูนย์เรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ …. ตอนนี้ ศูนย์เรียนรู้หญ้าทะเล รร.วัดฉางหลาง กลายเป็นแหล่งศึกษาที่หลายคนให้ความสนใจ มีทั้งโรงเรียนและชุมชนเข้ามาเรียนรู้และร่วมปลูกหญ้าทะเล ความร่วมมือจากทุกฝ่ายทำให้เห็นว่าการอนุรักษ์ทะเลไม่ใช่เรื่องไกลตัว และพลังของเด็กๆ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติให้ดีขึ้นได้จริง
ไปดูความน่ารักเต็มๆ ในคลิปเลย! >> https://youtube.com/shorts/iLHr96a-SGc
ที่มา PR CPF