CPF ก้าวสู่ธุรกิจใหม่ Future Food ตั้งกองทุนลงทุนสตาร์ตอัพทั่วโลกต่อยอดพอร์ตอาหารแห่งอนาคต เดือนหน้าพร้อมเปิดตัว “เนื้อหมู-ไก่” ปลอดยาปฏิชีวนะในราคาที่จับต้องได้ภายใต้แบรนด์ “CP Selection” นำร่อง 200 สาขา ใน 7-Eleven ปูพรมจับมือพันธมิตรศึกษาแผนพัฒนาธุรกิจ “กัญชง” ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เตรียมทำข้าวกล่องกัญชงออกขาย รับอานิสงส์ 2 โรคระบาด “อหิวาต์หมู-โควิด-19” ดันรายได้พุ่งทะลุ 600,000 ล้านบาท
การลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ในกิจการฟีด-ฟาร์ม-ฟู้ด ทั้งภายในประเทศและขยายออกไปอีก 17 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้จากการขายในปีที่ผ่านมาถึง 589,713 ล้านบาท
ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในคนและการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับ CPF มากนัก ตรงกันข้ามบริษัทกลับใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการขยายกิจการและออกสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
โดยมีดีลการลงทุนขนาดใหญ่ในส่วนงานธุรกิจสัตว์บก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ธุรกิจสุกร” ด้วยการเข้าซื้อธุรกิจหมูในประเทศจีนระหว่างบริษัท Chia Tai Investment หรือ CTI กับบริษัท Chia Tai Animal Husbandry Investment (Beijing)
พร้อมกับจ่ายค่าตอบแทน 131,287 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นใหม่คิดเป็นร้อยละ 65 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ CTI หลังการเพิ่มทุนให้กับผู้ขาย โดยดีลนี้ส่งผลให้เกิดการควบรวมระหว่างธุรกิจหมูกับธุรกิจอาหารสัตว์ในจีนเข้าด้วยกัน
นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะต่อยอดธุรกิจไปสู่อาหารแห่งอนาคต (future food) รวมทั้งความสนใจที่จะแสวงหาความร่วมมือในการเข้าสู่ธุรกิจอาหารมูลค่าเพิ่มจากกัญชงด้วย
เปิดแผน CPF 2021
คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายเพิ่มขึ้น 8-10% จากปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 600,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักจะมีการปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อยจากการเข้าลงทุนควบรวมธุรกิจสุกรครบวงจรที่ประเทศจีนเมื่อปลายปี 2563 ซึ่งอาจจะทำให้เห็นว่ามีตัวเลขทางบัญชีหายไปประมาณ 100,000 ล้านบาท
ซึ่งเป็นผลจากการปรับเรื่องบัญชีแต่จะไม่ส่งผลต่อกำไร จากปัจจุบัน CPF มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจในประเทศไทย 30% และจากฐานการผลิตในต่างประเทศ 70%
“ถ้ามองภาพรวมของ CPF ในปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจจะไม่เหมือนปีที่ผ่านมาจากเหตุผล 1.เศรษฐกิจโดยรวม ๆ จะดีขึ้น คนจะบริโภคมากขึ้น แม้ว่าการบินจะยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ แต่ผมมองบวกว่า ร้านอาหารจะกลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น ดังนั้นสินค้าอาหารสามารถเติบโตได้แน่นอนเพราะคนต้องบริโภค ไม่ว่าจะบริโภคที่ร้านอาหารหรือกลับไปทำเองที่บ้าน
ในมุมของเราโอกาสการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งไก่และหมูจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเฉพาะไก่ในตลาดอียูและหมูในตลาดต่าง ๆจะเติบโตขึ้นเพราะโรค ASF ทำให้หมูขาดแคลนทั่วโลก มีราคาแพงขึ้น กับ 2.โควิด-19 ทำให้คนคิดและใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น อย่างน้อยในช่วง 3 ปีนับจากนี้นี่คือเรื่อง external ที่จะเกิดขึ้นแน่นอน”
ในส่วนของ internal จะทำใน 2 เรื่อง คือ การใส่เต็มที่ในเรื่องของเทคโนโลยี ไอที ดิจิทัลทั้งหมด เพราะคุ้มค่าในการพัฒนา และจะเน้นเรื่องของ “อาหารอนาคต future food” ซึ่งจะมีการพัฒนาไปถึง “อาหารเสริม” และจะเน้นเรื่องของ nutrition หรือคุณค่าทางโภชนาการ
ยกตัวอย่างสินค้าชิ้นเดียวกันจะทำให้โภชนาการดีขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้จะมาจาก R&D ของ CPF เป็นโจทย์ที่ท้าทายทีม R&D มาก “จะทำให้สินค้าดีขึ้น แต่ขายราคาเท่าเดิมได้อย่างไร”
ชูหมู-ไก่ Probiotic
คุณประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ในปลายเดือน เม.ย.จะออกแคมเปญเรื่อง nutrition จากที่บริษัทประสบความสำเร็จในการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ด้วยวิธี “โพรไบโอติก (probiotic)” ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ (แบคทีเรีย-ยีสต์) ที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ตรงข้ามกับ anibiotic หรือยาปฏิชีวนะที่มุ่งกำจัดแบคทีเรียในร่างกาย
โดย probiotic จัดเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงมากในยุโรป CPF จึงได้ศึกษามาเป็นเวลานาน มีการคัดสายพันธุ์ทดลองมาหลายปี ด้วยการพัฒนาอาหารสัตว์ที่มีส่วนผสมของ probiotic ให้หมูและไก่กินแล้วสุขภาพสัตว์ดีขึ้นมาก ทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
และในเดือนหน้า CPF จะเปิดตัวสินค้าเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยวิธี probiotic ไม่ต้องใช้ยา เปลี่ยนเรื่องของ nutrition ยกระดับอาหารที่หมู-ไก่กิน ทำให้สินค้าเนื้อสัตว์ในกลุ่มนี้จะเข้าถึงเซ็กเมนต์ตลาดที่รองลงมาจาก กลุ่มไก่เบญจา ซึ่งเป็นสินค้าพรีเมี่ยมที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง (กก.ละ 50 บาท แทนการเลี้ยงด้วยข้าวโพด กก.ละ 7-8 บาท)
โดยเนื้อหมู-ไก่ probiotic จะกำหนดขายในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ และสินค้าในกลุ่มนี้จะใช้แบรนด์ใหม่ที่เรียกว่า CP Selection
“ขณะนี้ได้ทดลองทำตลาดผ่านช่องทางของ 7-Eleven ซึ่งนั่นเป็นนโยบายของท่านประธานอาวุโส (ธนินท์ เจียรวนนท์) ที่มองว่า ควรขยายการจำหน่ายสินค้าอาหารสดให้เข้าถึงประชาชนที่ปรุงอาหารทานเอง ใช้เนื้อสัตว์ปริมาณไม่มากใช้ครั้งเดียวหมด อายุการเก็บรักษาประมาณ 3 วัน เราจึงลองดูประมาณ 200 สาขา ในกรุงเทพฯ”
ข้าวกล่องกัญชง
นอกจากนี้ CPF ยังได้ทำ MOU ในการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจาก “กัญชง” ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ตามนโยบายการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดนี้ โดยกัญชงจัดเป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีประโยชน์มาก โดยแต่ละมหาวิทยาลัยต่างก็มีการวิจัยและพัฒนาที่ก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ
“การดูแลคุณภาพของต้นทางแหล่งวัตถุดิบกัญชง เราจึงมุ่งเน้นใช้กัญชงอินทรีย์เป็นหลักและต้องวางระบบตรวจสอบย้อนกลับ ด้านวัตถุดิบกัญชงตอนนี้ยังมีปริมาณจำกัด บริษัทสามารถซื้อจากทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ส่วนหนึ่งและส่วนหนึ่งก็จะพิจารณาแหล่งที่น่าเชื่อถือเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอ ซึ่งหากในอนาคตมีการอนุญาตให้เอกชนสามารถลงทุนพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ (การปลูกกัญชงแปลงใหญ่) ได้ ทาง CPF ก็สนใจที่จะลงทุนพัฒนาในส่วนนั้นด้วย”
ตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล
ในปีนี้ CPF ยังมุ่งจะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ (asset) ที่ได้มีการลงทุนสะสมต่อเนื่องมานานนับ 10 ปี มีมูลค่าการลงทุนรวมนับแสนล้านบาท เช่น การลงทุนในบริษัทผลิตหมูครบวงจรที่แคนาดาเมื่อปี 2562, การลงทุนควบรวมในธุรกิจหมูครบวงจรที่จีน และการเข้าซื้อควบรวมกิจการเทสโก้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ CPF มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ อย่างมาก
ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังบริหารจัดการภาระหนี้ที่เกิดจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีประมาณ 300,000 ล้านบาท แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะสามารถลดสัดส่วนหนี้ต่อเงินสดหมุนเวียนจาก 6 เท่า ลงไปเหลือ 4 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ
“ในเรื่อง M&A เรายังมองหาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสม แต่ต้องเลือกการลงทุนให้มีประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อธุรกิจ บริษัทมองถึงโอกาสการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ เร็ว ๆ นี้จะมีการตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลของ CPF ขึ้นมา เช่นเดียวกับที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้มีการตั้งกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอลเพื่อบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพไปก่อนหน้านี้ โดย CPF จะเน้นในธุรกิจสตาร์ตอัพด้านอาหารอนาคตเป็นหลัก
สำหรับงบประมาณของบริษัทในปีนี้เตรียมแผนไว้ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 26,000-27,000 ล้านบาท โดยหลักจะเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีปศุสัตว์ที่ทันสมัย หรือปศุสัตว์ 4.0” คุณประสิทธิ์กล่าว
Cr. ประชาชาติธุรกิจ