สำนักกฎระเบียบการค้า CPF จัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “แผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal) : Farm to Fork Strategy” โดยได้รับเกียรติจาก คุณจิตธนา กำเนิดเพ็ชร์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม บรรยายพิเศษให้กับผู้บริหารและพนักงาน CPF ถึงแนวทางในการปรับตัวเตรียมพร้อมพัฒนากระบวนการผลิตและสินค้าให้สอดคล้องกับระเบียบใหม่ เพื่อความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดและรักษาความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทย หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบวันที่ 1 มกราคม 2569 โดยมี คุณอาณัติ จุลินทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเปิดงาน และ ดร.สมบัติ ธีระตระกูลชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักกฎระเบียบการค้า CPF ร่วมด้วย
คุณจิตธนา กล่าวว่า แผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป เป็นร่างกฎหมายและกฎระเบียบที่ อียู ออกมา เพื่อเดินหน้าเป้าหมายของภูมิภาคสู่ Neutral Carbon ในปี 2593 (2050) และต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 55% ภายในปี 2573 (2030) โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาวะโลกร้อน เพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าต้องมีมาตรการการผลิตและกฎเกณฑ์ทางการค้าที่เทียบเคียงได้กับของอียู ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ อียู ประกาศให้ผู้นำเข้าสินค้านอกกลุ่มประเทศสมาชิกต้องชดเชยคาร์บอนฯ ตามมาตรการของอียู เบื้องต้นคณะกรรมาธิการอียู กำหนดสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 5 รายการ คือ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า ต้องชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเกณฑ์ของ Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการลงทุนด้านนวัตกรรมและค่าใช้จ่ายจากการชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์
ภายใต้กฎหมายดังกล่าว อียู ยังให้ความสำคัญกับพัฒนาระบบอาหารที่มีความโปร่งใส ยุติธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้ Farm to Fork Strategy โดยเน้นสาระสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.กระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช สารเคมี ยาต้านจุลชีพในสัตว์ และส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ 2.ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดูแลและกำกับธุรกิจและการตลาดอย่างรับผิดชอบต่อสังคม 3.ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืน และ 4.ลดการสูญเสียและขยะอาหาร ซึ่งอียูอาจมีการพิจารณาให้ผู้ส่งออกติดฉลากเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม อียูจะทำการทดสอบระบบ CBAM เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 – 31 ธันวาคม 2568 เพื่อให้ผู้ส่งออกมีเวลาในการศึกษารายละเอียดและปรับการผลิตให้สามารถแข่งขันในอียูได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังศึกษาผลกระทบต่อมาตรการดังกล่าวของอียู ร่วมกับภาคเอกชนไทย เพื่อส่งผลการศึกษาของไทยให้อียู พิจารณาปรับลดมาตรการที่อาจเป็นการกีดกันทางการค้า และการปฏิบัติที่ไม่ธรรมกับคู่ค้าต่อไป
ทั้งนี้ CPF ภายใต้เป้าหมายกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน “CPF 2030 Sustainability in Action” ยังคงเดินหน้าธุรกิจภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้ผลิตอาหารชั้นนำเพื่อโภชนาการและสุขภาพที่ดี ทำการตลาดด้วยความรับผิดชอบ ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF