ก.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ องค์กรสนับสนุนคนพิการดีเด่น ระดับดีเยี่ยม แก่ CPF และ บริษัทในกลุ่ม รวม 13 บริษัท ในงานวันคนพิการสากล ปี 2564 โดยในปีนีเ้ CPF ได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยม จากการเป็นองค์กรที่สนับสนุนงานคนพิการอย่างต่อเนื่อง 5 ปี โดยมี คุณพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล CP-CPF นำคณะผู้บริหาร เข้ารับโล่รางวัลจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านระบบการประชุมทางไกล (video conference) รางวัลที่ได้รับนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ CPF ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนพิการ หรือกลุ่มคนเปราะบางให้สามารถอยู่ร่วมในสังคมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
คุณพิมลรัตน์ กล่าวว่า ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ (ประเทศ ประชาชน และบริษัท) ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนและกลุ่มคนเปราะบาง โดยประสานความร่วมมือกับภาครัฐดำเนินโครงการจ้างงานคนพิการได้มีงานทำตามศักยภาพ ช่วยให้มีอาชีพและรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างมั่นคง สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ตลอดจนสนับสนุนคนพิการสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “สังคมพึ่งตน” หนึ่งใน 3 เสาหลักกลยุทธ์การพัฒนาความยั่งยืน (CPF 2030 Sustainability in Action) ส่งผลให้ CPF ได้รับรางวัลองค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่น ระดับดีเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่องค์กรสนับสนุนงานด้านคนพิการได้รับรางวัลนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
“CPF ภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า CPF มีนโยบายที่ให้ความสำคัญและยอมรับในเรื่องของความแตกต่างและหลากหลาย เพราะเราตระหนักดีว่า พนักงานทุกคน รวมทั้งคนพิการ มีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานที่ทำงาน และมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กร ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนเปราะบาง และต่อยอดสู่การสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน” คุณพิมลรัตน์กล่าว
การจัดจ้างคนพิการ ดำเนินตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2550 ที่กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 : 1 ซึ่ง ปัจจุบัน CPF และบริษัทในกลุ่ม 13 บริษัท ได้จ้างงานคนพิการโดยตรงทั้งหมด 750 คน แบ่งเป็นการจัดจ้างคนพิการเป็น 3 รูปแบบตามความเหมาะสม ได้แก่ รูปแบบแรก ม.33 จ้างคนพิการทำงานในสถานประกอบการของบริษัทฯ 185 คน โดยให้ทำงานด้านบัญชี ด้านธุรการ เป็นต้น สำหรับรูปแบบที่ 2 ม.33 ที่เป็นการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานให้ชุมชนที่คนพิการอาศัยอยู่ หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ 564 คน เช่น ทำงานเป็นผู้ช่วยงานที่วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และเป็นผู้ช่วยครูในโรงเรียน รวมทั้งจัดจ้างคนพิการช่วยงานโรงเรียนที่เข้าโครงการ “เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” รวม 260 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสนับสนุนจัดจ้างนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลทีมชาติไทยอีกด้วย และรูปแบบที่ 3 ม.35 การให้สัมปทานร้านค้าแก่คนพิการขายของในโรงงาน 1 คน
สำหรับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด CPF ปรับการลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมคนพิการในชุมชนต่างๆ เป็นการติดตามสอบถามความเป็นอยู่และการทำงานผ่านทางโทรศัพท์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรค รวมถึงความต้องการความช่วยเหลือ อาทิ หน้ากากอนามัย ขณะเดียวกัน โรงเรียนในโครงการ “เลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ยังได้ประโยชน์จากการที่มีคนพิการช่วยบริหารจัดการการเลี้ยงไก่ไข่ได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่โรงเรียนต้องปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์อีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทในกลุ่ม CPF ที่ร่วมรับโล่ประกาศเกียรติคุณ องค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่น ระดับดีเยี่ยม ได้แก่ บมจ.กรุงเทพโปรดิ๊วส, เชสเตอร์, ซี.พี. เมจิ, บจ.ซี.พี.เมอร์แชนไดชิ่ง , บมจ.ซีพีเอฟ, บจ.ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง และ บจ.ซีพีเอฟ ไอทีเซ็นเตอร์ ขณะที่อีก 5 บริษัทได้รับ โล่ประกาศเกียรติคุณ องค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่น 4 ปีซ้อน ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เพ็ท ฟู้ด จำกัด บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร ซีพีเอฟ จำกัด และบริษัท ดัคกาลบี้ กรุ๊ป จำกัด
Cr.PR CPF