CPF ต่อเวลาการดำเนินโครงการ Faster Payment ลดระยะเวลาเครดิตเทอมภายใน 30 วัน ช่วยเสริมความแกร่งสุขภาพทางการเงินของคู่ค้าธุรกิจ SMEs สร้างโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
คุณธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ CPF กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการ Faster Payment เพื่อช่วยเหลือคู่ค้าธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยการลดระยะเวลาเครดิตเทอมเพียง 30 วัน ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา มีส่วนช่วยผู้ประกอบการ SMEs ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ ล่าสุด ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ CPF จึงได้ขยายเวลาโครงการดังกล่าวอีก 3 เดือนจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ โดยหวังที่จะมีส่วนช่วยให้คู่ค้าธุรกิจสามารถปรับตัวได้ท่ามความไม่แน่นอน ตลอดจนเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้า หรือช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มยอดขายและสนับสนุนการเติบโตอย่างมั่นคง
“ตลอด 6 เดือนของการดำเนินโครงการฯ ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ของ CPF ดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว บรรเทาผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงได้ สามารถผลิตและส่งมอบสินค้าวัตถุดิบและการบริการให้กับ CPF ได้อย่างต่อเนื่อง คู่ค้าบางรายยังสามารถพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะรองรับการตลาดในยุคนิวนอร์มอล เช่น การขายทางออนไลน์ อีกด้วย” คุณธิดารัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ CPF ดำเนินโครงการ Faster Payment เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนคู่ค้าธุรกิจที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท กว่า 6,000 ราย ตอบรับกับนโยบายของเครือซีพีที่ต้องการช่วยเหลือคู่ค้าธุรกิจของบริษัท มีสภาพคล่องทางการเงิน สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ CPF ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการเพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพคู่ค้าธุรกิจต่อเนื่อง ผ่านการร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจในการพัฒนาการดำเนินงานให้ถูกต้องตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีในด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการอย่างมีจริยธรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพพนักงานด้านการจัดซื้อของซีพีเอฟ ให้มีความรู้ความเข้าใจนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติของคู่ค้า เพื่อนำไปบูรณาการและถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นให้แก่คู่ค้าธุรกิจได้ ขับเคลื่อนกระบวนการจัดซื้อวัตถุดิบที่มาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบต่อแรงงาน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศควบคู่กัน
ปีที่ผ่านมา CPF ร่วมกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดงานสัมมนาทางออนไลน์ “CPF Capacity Building for Partnership) เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้กฎระเบียบ สิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานให้แก่คู่ค้าธุรกิจได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงาน เพื่อยกระระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องตามหลักสากล และสร้างความมั่นใจและการเติบโตทางธุรกิจของคู่ค้าในอนาคต
Cr.PR CPF