เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 CPF จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สู่การฟื้นฟูป่า ร่วมกับก.ทรัพยากรฯ และ อบก. หนุนเครือ CP-CPF เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สู่การฟื้นฟูป่า
โดยมี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ CEO เครือซีพี เป็นสักขีพยานการลงนาม ระหว่าง คุณอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้, คุณธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, คุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และ CEO คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่า พื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 7,000 ไร่ ในโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง และโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน พื้นที่อ่าวไทย ตัว ก จ.สมุทรสาคร 14,000 ไร่ รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการของซีพีเอฟทั่วประเทศอีก 5,000 ไร่
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนทราบกันดีว่าปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศวันนี้ใกล้ตัวกว่าที่พวกเราคิด การแก้ไขปัญหาไม่ว่าทางรัฐบาลหรือส่วนราชการ จะมีนโยบายที่เข้มแข็งหรือนโยบายที่เข้มข้นขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐบาล นายกฯ หรือรัฐมนตรีหรือเพียงฝ่ายเดียว การทำงานหากไม่ได้รับการตอบรับจากสังคม ไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชน นโยบายต่างๆ ก็เป็นแค่กระดาษแผ่นเดียวที่นำเสนอต่อสาธารณะและปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
“วันนี้ต้องขอขอบคุณที่เครือซีพีเห็นความสำคัญและผลักดันนโยบายต่างๆ ที่จะผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วันนี้ โควิด-19 เป็นเหมือนสัญญาณที่ธรรมชาติกำลังเคาะประตูบ้านเราว่า ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์เราจะต้องคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ หากว่าเรายังมัวแต่ทำลายธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า ต้นไม้แต่ละต้น ท้ายที่สดุเวลาที่ธรรมชาติเอากลับคืน สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ วันนี้พวกเราต้องมานั่งใส่หน้ากากกัน”
“วันนี้ ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานในวันนี้ ได้มาช่วยกันฟื้นฟูและมาช่วยกันสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นกับธรรมชาติของประเทศไทย เราจะมาช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ ปลูกต้นไม้คนละต้น เพื่อคืนความสมบูรณ์ ความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา”
“ที่ผ่านมา เครือฯ ได้ร่วมสนับสนุนการปลูกป่าและมีส่วนผลักดันให้ประเทศมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ความร่วมมือในวันนี้ ระหว่างเครือ CP-CPF กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ รวมถึง อบก. จะเป็นเครื่องยืนยันถึงความแน่วแน่ที่ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ใหญ่ระดับโลกให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”
ขณะที่ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ CEO เครือซีพี กล่าวว่า เครือฯ ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยเครือตั้งเป้าเป็นองค์กรลดคาร์บอนเป็นศูนย์ Net Zero Carbon เพื่อช่วยรักษาสมดุลของบรรยากาศและอุณหภูมิของโลก
เครือซีพี ตระหนักถึงความไม่ยั่งยืนในวิถีเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา วิถีระบบบริโภค การผลิตที่สร้างมลพิษที่สร้างภาวะเรือนกระจก ที่มีผลต่อน้ำ ดิน และอากาศ วิถีเศรษฐกิจที่ผ่านมา 60-70 ปี นำไปสู่ยุคของอุตสาหกรรม เป็นยุคที่เพิ่มผลผลิตหรือ GDP (Gross Domestic Product) แต่อนาคตอันใกล้ วิถีการผลิตและการบริโภคตลอดห่วงโซ่อุปทานจะต้องดำเนินตามแนวทางของ GDS (Gross Domestic Sustainability)
“โลกของเรามีความเปราะบางมาก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกหรือภาวะโลกร้อน ส่งผลให้พันธุ์พืชและสัตว์บนโลกทยอยสูญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เราจึงนิ่งนอนใจไม่ได้ว่า มนุษยชาติและลูกหลานของเราจะอยู่ได้อย่างไร ในวันนี้ เราใช้ทุกอย่างอย่างสิ้นเปลืองและทิ้งโดยไม่รับผิดชอบจึงก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย”
“เครือซีพี ตั้งเป้าหมายปี 2030 เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานให้คาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อรักษาสมดุลของชั้นบรรยากาศและอุณหภูมิ ตลอดจนทำให้ขยะของเสียเป็นศูนย์ จากความร่วมมือกันในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้เราหาทางออกได้อย่างมากมาย รวมทั้งแบ่งปันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน และสร้างตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม ที่มีภาครัฐเป็นแกนนำ โดยเครือซีพีจะเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายาม และดำเนินการตามแนวทางของภาครัฐ และนโยบายของท่าน รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ในการสร้างความยั่งยืนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
Cr:Pr CPF