คุณจีระณี จันทร์รุ่งอุทัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักพัฒนาความยั่งยืน CPF เป็นผู้แทนบริษัทฯ นำเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในงานเสวนาหัวข้อ “แนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Emission Pathway” จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. โดยคำนึงถึงการบรรเทาผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนและการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ CPF ในฐานะผู้นำในธุรกิจเกษตร อุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
CPF ให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกธุรกิจตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ อาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป โดยใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด ภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน วัตถุดิบในการผลิตจะถูกนำมาใช้อย่างรู้คุณค่า มีการนำชิ้นส่วนไก่ หมูพัฒนาเป็น co-product น้ำเสียจากธุรกิจฟาร์มสุกร ธุรกิจไก่ไข่ จะนำไปหมักให้เกิดไบโอแก๊สและนำแก๊สที่ได้ไปปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในฟาร์ม ขณะที่น้ำจากบ่อไบโอแก๊ส นำไปผ่านการบำบัดจนได้ค่ามาตรฐาน สามารถหมุนเวียนนำกลับไปใช้ล้างพื้นและรดน้ำต้นไม้ในฟาร์ม ตลอดจนปล่อยเป็นน้ำปุ๋ยให้กับเกษตรกรรอบฟาร์มนับ 100 ราย ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้เกษตรกร
นอกจากนี้ น้ำมันที่ผ่านการทอดแล้วนำไปเป็นไบโอดีเซล ช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารของ CPF กว่า 700 รายการ ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)
“การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนวียน ที่ CPF ทำในทุกๆ วัน ทำให้การใช้พลังงานทดแทนของบริษัทฯ จากไบโอแก๊ส โซล่าร์รูฟท็อป โซล่าร์ฟาร์ม และพลังงานจากชีวมวล มีสัดส่วนอยู่ที่ 26% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด ในปี 2563 ทำให้ขยะเหลือเพียง 2% ที่นำไปฝังกลบ” คุณจีระณี กล่าว
สำหรับกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่า นอกจากธุรกิจของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับ Feed Farm Food ที่บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว CPF ยังส่งเสริมให้เกษตรกรในห่วงโซ่การผลิต ดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจสิ่งแวดล้อม จนถึงผู้บริโภคให้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดขยะอาหารตามเป้าหมาย Zero Food Waste ในปี 2030 ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ให้มีการขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้เวลาสั้นสุด และลดการวิ่งรถเปล่า
คุณจีระณี กล่าวว่า CPF ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน ประกอบด้วย โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี และโครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน จ.ระยอง และสมุทรสาคร ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่ามากกว่า 10,000 ไร่ นับว่า CPF ได้วางระบบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้สามารถปฏิบัติได้จริง
การเสวนาในวันนี้ ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น เนสท์เล่ (ประเทศไทย) และ ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ ประเทศไทย (PricewaterhouseCoopers : PwC) เข้าร่วมนำเสนอแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อร่วมบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF