สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT: Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย จัดงานประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนประจำปี ภายใต้แนวคิด “Thailand’s Climate Leadership Summit :A New Era of Accelerated Actions” ระดมพลังสมาชิกภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสหประชาชาติ หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางแพลตฟอร์มออนไลน์
โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทผู้นำ มุ่งสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Leadership for Climate Actions)” และมี คุณวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิก GCNT 74 องค์กรในประเทศไทยจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ร่วมงาน
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ ภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว ในขณะที่รัฐบาลจะหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูงเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตและพฤติกรรมการบริโภค นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-based, Circular และ Green Economy โดยต่อยอดจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้น ภายในปี 2565 และขอเชิญชวนภาคเอกชนมีส่วนร่วมในโครงการนี้ รวมทั้งการริเริ่มโครงการอื่นๆ ที่มุ่งใช้จุดแข็งในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรธรรมชาติของไทย ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ปรับตัวตามทิศทางบรรทัดฐานใหม่ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ
ด้านคุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การแสดงพลังในวันนี้ ว่า เป็นการร่วมป้องกันและแก้ปัญหาวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเป็นกําลังขับเคลื่อน และสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการขยายผลยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด อุตสาหกรรมพื้นฐาน ชีวภาพและธุรกิจมูลค่าสูงที่สร้างมลพิษต่ำ หรือ New S-Curve พร้อมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค นักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาสร้างผู้นํารุ่นใหม่ที่มีความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ในงานสัมมนาดังกล่าว CPF ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิกของ GCNT ร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมี คุณพีรพงศ์ กรินชัย รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิศวกรรมกลาง ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ และของเสีย CPF เป็นตัวแทนบริษัทฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์และเสวนา ในหัวข้อ “Solutions to Address Climate Change by Relevant Business Sectors” ทางออกในแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยภาคธุรกิจ ในกลุ่มอาหารและการเกษตร”
คุณพีรพงศ์ กล่าวว่า CPF ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้กลยุทธ์ “CPF 2030 Sustainability in Action” โดยมีเป้าหมายการมุ่งสู่องค์กร “Carbon Neutral” สอดคล้องตามเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2573 ภายใต้แผนดังกล่าว CPF เดินหน้ากลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่า คงอยู่ ด้วยภารกิจ 9 ความมุ่งมั่น ครอบคลุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้านทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดปริมาณขยะอาหารตามแนวทางการสร้างคุณค่าปราศจากขยะ (Waste to Value) และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และร่วมลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Operational Efficiency) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) การใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรที่ปราศจากการทำลายป่า (Deforestation Free) รวมถึงการปลูกป่าและการฟื้นฟูป่าไม้ (Afforestation and Reforestation)
นอกจากนี้ CPF ยังนำเทคโนโลยีทันสมัยทั้งระบบอัตโนมัติ (Automation) การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) and Internet of Things (IoT) มาช่วยจัดการในระบบ Smart Farm และ Smart Factory ส่งเสริมลดการใช้ทรัพยากรทั้งน้ำและขยะในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก โดยเฉพาะเป้าหมายการลดการใช้ถ่านหินในปี 2565 ด้วยการเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากชีวมวลแทน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ไบโอแก๊ส (Biogas) เป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญของหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจสุกร ไก่ไข่ และโรงงานแปรูปอาหาร ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 490,000 คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และการใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตจากแสงอาทิตย์ (Solar Power) ทั้งอาคารสำนักงาน อาคารผลิตของโรงงาน ฟาร์มเลี้ยงสัตว์บก และฟาร์มสัตว์น้ำ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 47 เมกกะวัตต์ต่อปี สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 30,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ปีละ 25,000 ต้น
คุณพีรพงศ์ กล่าวด้วยว่า CPF มีเป้าหมายการปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเพิ่มพื้นที่ปลูกจาก 10,000 ไร่ ในปี 2563 เป็น 20,000 ไร่ ในปี 2573 ขับเคลื่อนเป้าหมายภายใต้กลยุทธ์ “CPF 2030 Sustainability in Action” ในอีก 9 ปีข้างหน้า
Cr. PR CPF