CPF รายงานการผนึกพลังเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสัตว์น้ำสู่ความยั่งยืน มุ่งเน้นการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การยุติปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานประมง รวมถึงการจัดการปัญหาขยะในทะเล เพื่อส่งต่อความมั่นคงทางอาหารและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ในงานประชุม SeaBOS Keystone Dialogue ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์
น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ CPF กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะเป็น 1 ใน 10 องค์กรธุรกิจชั้นนำของโลกที่ร่วมเป็นสมาชิก SeaBOS ได้ร่วมถวายรายงานการดำเนินงานและความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดระยะเวลา 5 ปี แก่ ‘เจ้าฟ้าหญิงวิกตอเรีย’ มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน ในฐานะผู้สนับสนุนเครือข่าย Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS) และประธานการประชุม พร้อมทั้งนักวิทยาศาสตร์และองค์กรผู้ผลิตอาหารทางทะเลชั้นนำของโลก ในที่ประชุมผู้นำกลุ่มประจำทุกปีเพื่อรายงานความคืบหน้าความร่วมมือการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลที่ยั่งยืน
“มกุฎราชกุมารีแห่งสวีเดน รับฟังรายงานผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปี ของกลุ่ม SeaBOS และ CPF ในฐานะสมาชิกกลุ่ม ได้ถวายรายงานถึงการร่วมยกระดับมาตรฐานการทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้ทานอาหารปลอดภัย มีคุณภาพสูง สามารถตรวจสอบย้อนกลับอย่างโปร่งใสได้ตั้งแต่ต้นทาง ควบคู่กับรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งแนวทางเหล่านี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่ม SeaBOS” น.สพ.สุจินต์ กล่าว
น.สพ.สุจินต์ รายงานความคืบหน้าใน 4 ประเด็นสำคัญ เริ่มจากการคิดค้นแนวทางการเลี้ยงกุ้งแบบใหม่ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ตั้งแต่การพัฒนาลูกกุ้งที่แข็งแรง โตไว ต้านทานโรค การเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิดเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม ระบบบริหารจัดการการเพาะเลี้ยงกุ้งด้วยหลัก “3 สะอาด” การพัฒนาสูตรอาหารใช้โปรไบโอติกช่วยให้กุ้งแข็งแรง ปลอดโรค รวมถึงการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีในระบบบำบัดน้ำ ช่วยให้การเพาะเลี้ยงกุ้งสามารถนำน้ำมารีไซเคิล หมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำ และลดการปริมาณการใช้น้ำจากภายนอก พร้อมทั้งถ่ายทอดการดำเนินงานและแนวทางปฏิบัติที่ดีสู่องค์กรสมาชิก เพื่อส่งเสริมการผลิตสัตว์น้ำที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับประเด็นด้านความโปร่งใสในการดำเนินงานในอุตสาหกรรมประมง CPF ผลักดันนโยบายการจัดหาปลาป่นซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างรับผิดชอบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทั้งนี้ ปลาป่น 100% ที่ CPF ใช้ในไทยมาจากผลพลอยได้จากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ (By-Product) และได้รับการรับรองมาตรฐาน MarinTrust หรือ MarinTrust Improver Program ซึ่งเป็นปลาป่นที่ไม่เป็นผลพลอยได้จากพันธุ์ที่มีความเสี่ยงตามมาตรฐานสากล รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้โดยหน่วยงานภายนอก (Third Party) พร้อมทั้งขยายผลใช้กับกิจการในประเทศอื่นๆ ต่อเนื่อง
CPF ได้รายงานความคืบหน้าการยุติปัญหาการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง โดยนำหลักสิทธิมนุษยชนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้พนักงานและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม การผนึกพลังกับเครือข่ายพันธมิตร ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ดำเนินโครงการ “ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา” (Fishermen’s Life Enhancement Center) หรือ ศูนย์ FLEC ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน บูรณาการความเชี่ยวชาญของ 7 องค์กรพันธมิตร มาช่วยป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงของไทย พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัว กว่า 200 ครัวเรือน บริเวณท่าเรือประมง จ.สงขลา
นอกจากนี้ ด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร รักษาความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ในปีนี้ CPF จัดตั้งโครงการ “CPF Restore the Ocean” เพื่อสร้างความตระหนักสู่พนักงาน CPF ทั่วประเทศ ให้ลงมือทำ ช่วยลดปริมาณขยะและบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น กับดักขยะทะเล ขยะชายหาด ขยะคืนฝั่ง เป็นต้น เพื่อร่วมดูแลและปกป้องระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นต้นทางของความมั่นคงทางอาหารของโลกได้อย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF