CPF ทุ่มวิจัยพัฒนาการเลี้ยงสุกรเพื่อ อุตสาหกรรมโตอย่างยั่งยืน ระบุโรคระบาดส่งผลสุกรขาดตลาด

CEO คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ มองโครงสร้างอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จะยั่งยืนได้ต้องมีการวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่บริหารต้นทุนให้ลดลง การสรรหาวัตถุดิบ การพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้มาซึ่งพันธุ์ที่แข็งแรง และการเลี้ยงสุกรที่ต้องมีมาตรฐานอาชีวอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบาด นอกเหนือไปจากการมีฟาร์มและการจัดการการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมแหล่งน้ำในการผลิตที่เพียงพอ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ โรคระบาดในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทั้งโรคเพิร์ส (PRRS) และโดยเฉพาะโรค ASF ที่ทำให้การเลี้ยงสุกรในจีนและเวียดนามเสียหาย ส่งผลให้เกิดภาวะสุกรขาดตลาดอย่างมาก การพยายามกลับมาเลี้ยงใหม่ก็อาจจะยังประสบความเสียหายได้ หากระบบการเลี้ยงไม่มีมาตรการป้องกันด้านชีวอนามัยที่เคร่งครัด
CPF จึงมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงที่มีมาตรฐานชีวอนามัยที่สูง ประกอบกับการพัฒนาพันธุ์สุกรให้แข็งแรง มีความต้านทานโรคสูงอย่างต่อเนื่อง
คุณประสิทธิ์ กล่าวว่า การที่โรค ASF ทำให้สุกรขาดตลาดในจีน เวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านของไทย ส่งผลให้มีการนำเข้าสุกรจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก และความต้องการยังมีมาต่อเนื่อง ทำให้ราคาสุกรในไทยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ การจะเร่งเลี้ยงสุกรในหลายประเทศให้มีผลผลิตเท่าก่อนมีโรค ASF ในภูมิภาคนี้ อาจใช้เวลาอีก 2-3 ปี และสุกรอาจไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานอีกต่อไป
ทั้งนี้ ความสามารถในการเลี้ยงให้ปลอดโรคและมีต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นปัจจัยหลักสำหรับความสำเร็จของธุรกิจสุกร จึงมองว่าในภูมิภาคนี้ราคาสุกรใน 1-2 ปีข้างหน้าจะยังคงอยู่ในระดับสูงจากภาวะสุกรขาดตลาด
Cr.CPF