“CPF โค้ชนิสิตจุฬาฯ-อินโดนีเซีย” คว้าแชมป์ นักวิจัยนวัตกรรมอาหารรุ่นใหม่แห่งอาเซียน

CPF จับมือ โปรเว็ก เอเซีย (Proveg Asia) และบริษัทชั้นนำระดับโลก หนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อผลิตนวัตกรรมอาหารรับเทรนด์โลก ในโครงการ “Asean Food Innovation Challenge 2021” โดย CPF ร่วมเป็นโค้ชและทำ Workshop กับทีมที่ผ่านการคัดเลือกและเสนอผลงานภายใต้แนวคิดที่บริษัทฯ กำหนด คือ การพัฒนานวัตกรรมอาหารที่มาจากพืช “Plant-based Innovation”
ล่าสุด ได้ประกาศผลทีมชนะเลิศอย่างเป็นทางการแล้ว ได้แก่ ทีม Food Tech Chula จากแนวคิดนวัตกรรมอาหาร “The Marble Booster” และทีม TempMie จากอินโดนีเซีย ได้อันดับที่ 2 จากแนวคิด “Asean Fusion yet Functional Food” ซึ่งทั้งสองทีมอยู่ภายใต้การโค้ชของ CPF และยังได้รับเงินรางวัล 1,500 เหรียญสหรัฐ และ 1,000 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
ทีมชนะเลิศ Food Tech Chula เป็นการรวมตัวกันของนิสิตปริญญาเอก คือ คุณนุติ หุตะสิงห, คุณวรัญญา เตชะสุข และนิสิตปริญญาโท คุณณัฐชนน สร้างสมจิตร์ จากภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
The Marble Booster เป็นการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตเนื้อเทียม (Meat Analogue) ที่ผลิตจากพืช 100% มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์จริง มีโครงสร้างเป็นใยคล้ายกล้ามเนื้อสัตว์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นรูปจากโปรตีนถั่วเหลือง และมีชั้นไขมันที่ผลิตจากน้ำมันคาโนลา สารสกัดจากขมิ้นชันและพริกไทดำแทรกอยู่ในชิ้นเนื้อ กลายเป็นเนื้อลายหินอ่อน เป็นการเลียนแบบเนื้อวากิว ซึ่งแตกต่างจากเนื้อสัตว์ plant-based ทั่วไป ที่เป็นลักษณะเนื้อบด อีกทั้งเนื้อสัตว์เทียมดังกล่าว ยังมีคุณสมบัติช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากสารประกอบเคอร์คิวมิน (Curcumin) จากขมิ้นชันและพิเพอรีน (Piperine) จากพริกไทดำ สารทั้งสองตัวนี้เมื่ออยู่รวมกันจะให้ฤทธิ์เสริมกัน (Synergistic effect) เสริมภูมิคุ้มกัน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ส่วนทีม TempMie จากอินโดนีเซีย ที่ได้อันดับ 2 นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสำหรับ Vegan (instant vegan noodle) ทำจากแป้งถั่วเหลืองหมักแบบพื้นเมืองอินโดนีเซีย (Tempeh powder) สารสกัดเข้มข้นจากดอกไม้ Kecombrang และน้ำซุปเห็ดหอมชิตาเกะของญี่ปุ่น (Shiitake Broth) เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของอินโดนีเซียเข้ากับญี่ปุ่น
ดร.ลลนา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านนวัตกรรมการอาหารและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ CPF กล่าวว่า CPF ในฐานะโค้ชและทีมเมนเตอร์ทุกคน ขอแสดงความยินดีกับทีม Food Tech Chula และ TempMie ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศในครั้งนี้ เป็นรางวัลที่คู่ควรกับความขยันและตั้งใจจริงของทีมทั้ง 2 ทีม
สำหรับทีม Food Tech Chula ทั้ง 3 คน ประสานความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัว และนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมเนื้อเทียม The Marbel Booster ได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถนำคำแนะนำที่ได้รับไปปรับปรุงและต่อยอดได้อย่างสมเหตุผลและรวดเร็ว นำคำแนะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการผลิตผลงานได้จริงในอนาคต
“ทุกคน กล้าคิด กล้าพูด กล้าลงมือทำ พร้อมค้นหาความจริงและรับฟังคำติชม ซึ่งเป็นคุณลักษณะของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่รองรับเทรนด์โลกได้ดี ที่สำคัญแนวคิดของนักวิจัยกลุ่มนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดเรื่องโปรตีนเนื้อสัตว์จากพืช และเป็นนวัตกรรมอาหารสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19” ดร.ลลนา กล่าว
ส่วนทีม TempMie มีสมาชิก 4 คน ได้แก่ Mr. Alberto Septian Wijaya, Mr.Ferryawan Kurniady, Miss Lucia Idella Ulina Tindaon and Mr.Ryan Matthew นำเสนอบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโปรตีนสูงและปรุงรสด้วยซุปเห็ดญี่ปุ่น แตกต่างไปจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดทั่วไปที่มีส่วนผสมของแป้งสูง เป็นทีมที่มีความมุ่งมั่นสูงเช่นกันและรับฟังคำแนะนำจากทีมเมนเตอร์เป็นอย่างดี
สำหรับการแข่งขันระดับภูมิภาคครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมอาหาร ภายใต้แนวคิดที่บริษัทต่างๆ กำหนดตามความสนใจ และนำเสนอแผนงานผ่าน Proveg Asia ทั้งสิ้น 125 ชิ้น จากมหาวิทยาลัย 54 แห่ง ใน 13 ประเทศ
Cr.PR CPF