เป้าหมายสร้างทักษะอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกล ผ่านโครงการและกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นการสร้างประสบการณ์จากการลงมือทำจริง และนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน คือ ผลสัมฤทธิ์ที่โรงเรียนและผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner : SP) วางแผนร่วมกันในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทย ภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED)
“โครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลอดสารพิษ” ของ รร.บ้านบุตะโก จ.นครราชสีมา เป็น 1 ในกว่า 200 โครงการ ที่ CPF สนับสนุนโรงเรียนเข้าร่วมโครงการสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับนักเรียนโดยปราชญ์ชุมชนที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพี่ๆ SP ของ CPF ที่ให้คำแนะนำ ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะอาชีพและวิชาการไปพร้อมกัน ผลผลิตพืชผักนำไปจำหน่ายที่โครงการอาหารกลางวันโรงเรียน ชุมชน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่
นอกจากนี้ นักเรียนต่อยอดนำพืชผักในโครงการฯ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าและแปรรูปถนอมอาหาร นำออกจำหน่ายทางออฟไลน์และออนไลน์ เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน และได้เรียนรู้กลยุทธ์การขายที่ขยายฐานลูกค้าไปยังจังหวัดต่างๆ อีกด้วย
คุณวังภูไพร คุณทะวงษ์ สอนวิชาการงานอาชีพและเป็นคุณครูที่ปรึกษาโครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ฯ เล่าว่า โรงเรียนวางแผนการสอนเป็นแบบหน่วยโครงงานอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เน้นฝึกทักษะอาชีพ คาดหวังให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child –centered learning) ปลูกฝังให้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดบทบาทการบรรยายหน้าห้องเรียน เพิ่มบทบาทผู้เรียนในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน บูรณาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจที่หลากหลาย สามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้
“CPF สนับสนุนโครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลอดสารพิษ ที่โรงเรียนสามารถต่อยอดพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ขอบคุณ CPF ที่สนับสนุนงบประมาณและความรู้ ทำให้โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต” คุณครู กล่าว
ปัจจุบันโรงเรียนฯ เปิด “ศูนย์เรียนรู้สู่ความพอเพียง เคียงคู่เทคโนโลยี” เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน และจัดทำศูนย์เรียนรู้ฯ ในเฟสบุ๊ก เพื่อให้หน่วยงานและผู้สนใจเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
คุณศุรางรัฐปรัชญา ปะตาทะยัง หรือครูแพรว สอนวิชาวิทยาศาสตร์ บูรณาการโครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลอดสารพิษ กล่าวว่า ประทับใจที่โรงเรียนขนาดเล็กในต่างจังหวัด ได้มีโอกาสทำโครงการดีๆ นำเสนอศักยภาพของโรงเรียน เปิดโอกาสให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ลองผิดลองถูก แก้ปัญหา จนเกิดเป็นผลผลิตผักและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับโรงเรียน สามารถนำทักษะไปใช้ในชีวิตประจำวันจากการลงมือทำจริง ทำให้เด็กๆ จดจำได้ดีกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนที่ฟังบรรยายอย่างเดียว
ด.ญ.สุพิชญา บัวนาค หรือ น้องลูกหม่อน นักเรียนชั้น ป.6 กล่าวว่า หนูอยากให้โรงเรียนมีห้องเรียนกับธรรมชาติ ที่ได้ฝึกปฏิบัติจริง รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก คุณครูบอกหนูว่าโครงการสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี เป็นโครงการเอกชนที่สนับสนุนโรงเรียนสร้างโรงปลูกผักที่ใหญ่และดีมากค่ะ หนูปลูกผัก ทำปุ๋ยหมัก ขอบคุณมาก เพราะทำให้หนูมีที่เรียนนอกห้องเรียนแห่งใหม่ ได้ปลูกผักครบวงจร การเพาะกล้า การเตรียมดิน การทำปุ๋ยหมัก เพาะกล้าจากลังไข่ที่ไม่ใช้แล้วและนำใบไม้เศษอาหารมาทำปุ๋ย ทำให้เข้าใจและเห็นคุณค่าของสิ่งของ ที่เคยมองข้ามว่าไม่มีค่า ตอนนี้ใบไม้เป็นสิ่งมีค่าเก็บไว้ทำปุ๋ยได้
ด้าน คุณปิ่นมณี วงมาเกษ หรือ น้องปิ่น นักเรียนชั้น ม.2 แกนนำโครงการฯ กล่าวว่า ดีใจมากที่มีภาคเอกชนสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน ช่วยสร้างโอกาสให้โรงเรียนชนบทมีโครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลอดสารพิษครบวงจร ได้เรียนรู้ตั้งแต่ปลูกผัก การแปรรูป การตลาด เป็นโครงการที่สร้างความยั่งยืนให้กับโรงเรียน นักเรียน ชุมชน ได้เข้ามาเรียนรู้ ได้ความรู้และมีทักษะงานอาชีพแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกผักแบบเศรษฐกิจพอเพียง ผลิตปุ๋ยชีวภาพเองจากวัสดุในโรงเรียน การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาทิ นำมะเขือเทศมาแปรรูปเป็นสบู่มะเขือเทศ ครีมอาบน้ำแตงกวา ฯลฯ การออกแบบแพ็คเกจจิ้ง โลโก้ การตลาดออนไลน์และออฟไลน์ และยังช่วยกันดูแลเพจ “ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โรงเรียนบ้านบุตะโก” ทำให้เข้าใจระบบออนไลน์ คิดว่าสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพเสริมได้
น้องลูกหม่อน และ น้องปิ่น ขอบคุณ “โครงการสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี” และ”CPF” ที่สนับสนุน ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ เรียนรู้จากประสบการณ์จริง รู้จักการแก้ปัญหา มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญ คือ การถ่ายทอดความรู้จากพี่สู่น้องเป็นความยั่งยืนของโครงการ
Cr. PR CPF