คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส CPF ด้านการพัฒนาความยั่งยืนองค์กร เป็นวิทยากร ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ในเวที CP-CSR Talk ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “ย้อนรอยเส้นทางการขับเคลื่อน CSR สู่ความยั่งยืน…ก้าวสู่ทศวรรษยั่งยืนได้ด้วยมือเรา” แบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จในการดำเนินงาน และแนวคิดในการริเริ่มโครงการและกิจกรรมด้านสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ CPF กับชาว CP-CPF ให้นำไปต่อยอดและขยายความร่วมมือภายในเครือฯ ในการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภค สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในอนาคต
คุณวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ในยุคแรกๆที่มีการทำCSR ส่วนใหญ่ จะเน้นไปที่การสนับสนุน การช่วยเหลือชุมชนและสังคม การบริจาค พอยุคต่อมาภาพรวมของงาน CSR เริ่มมีความคาดหวังมากขึ้น เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท (Stakeholders) มีมากและชัดเจน ทำให้การทำงานจะไม่ใช่แค่ “การให้” อย่างเดียว ต้องมีกลไกและเครื่องมือใหม่ๆที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด อาทิCreating Shared Value (CSV) รวมถึงการจัดกระบวนการทำงานภายในทั้งหมด เพื่อสามารถทำงานได้ถูกต้องและตอบโจทย์กับ Stakeholders และบริษัทได้ประโยชน์ร่วมกัน กลายเป็นแนวคิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Corporate Social Responsibility and Sustainable Development : CSR & SD) เป็นเรื่องของการเดินทาง ซึ่งการจะเดินทางให้ถึงเป้าหมายได้ต้องมีความเข้าใจ 3 เรื่องหลัก คือ
“เข้าใจเรา” หมายถึง เข้าใจพื้นฐานธุรกิจและความเชี่ยวชาญของบริษัท และความเสี่ยงต่อความยั่งยืนที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อนำความรู้ความสามารถมาบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจและแก้ปัญหาได้ตรงจุด สิ่งสำคัญ คือ ทำให้ทุกคนในองค์กรรู้จักตัวองค์กรเองว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรในการทำงาน CSR ทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจเรื่อง CSR ให้ตรงกันว่างาน CSR เป็นของทุกคน ทุกหน่วยงาน
“เข้าใจโลก” เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทให้มากที่สุด เช่น การมีส่วนร่วมในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อหาจุดยืนและส่งเสริมการทำธุรกิจร่วมกัน สังคม ลูกค้า เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เราจะทำ CSR ตอบกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร และ อะไรบ้าง
“เข้าใจทำ” คือ การทำอย่างถูกต้อง ตอบโจทย์ของคู่ค้า ผู้มีส่วนได้เสีย และส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างรอบด้าน ซึ่งจำเป็นต้องทำคู่ขนานกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรให้เห็นความสำคัญและผลประโยชน์ที่จะเกิดตามมาในระยะยาว โดยจะต้องทำอย่างมีแนวคิดมียุทธศาสตร์ และยุทธวิธีขับเคลื่อนงานด้านความรับผิดชอบสังคมและความยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วม
การทำ CSR ระดับผู้บริหารและ พนักงาน/การมีข้อมูลที่ชัดเจนของพื้นที่/การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ทั้งภายใน ภายนอกอย่างต่อเนื่อง/การผนึกกำลังกับภาคีเครือข่าย เพราะงานด้าน CSR ไม่สามารถทำได้เพียงองค์กรต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ
คุณวุฒิชัย เล่าถึง “CPF 2030 Sustainability in Action” ยั่งยืนได้ด้วยมือเรา เป็นการขับเคลื่อนความยั่งยืนในทศวรรษใหม่ของ CPF จากนี้จนถึงปี 2030 ภายใต้ 9 ความมุ่งมั่น ที่ผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบด้านนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งในระดับบุคคลและความร่วมมือของทุกธุรกิจ เพื่อปิดช่องว่างและมุ่งมั่นเดินหน้าตามเป้าหมายใหม่ในการผลิตอาหารมั่นคง สร้างสังคมพึ่งตน ดูแลรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ขณะเดียวกัน ยังสอดคล้องตามเป้าหมายความยั่งยืนเครือฯ 15 ข้อ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ
“การขับเคลื่อนความยั่งยืน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นโดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมขององค์กร ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด โดยทำแบบเกื้อกูล เอื้อประโยชน์ ตอบแทนสังคมและโลกอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะยาวให้เกิดคุณค่าต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง”