‘CPF มอบของขวัญปีใหม่ คู่ค้า SMEs’ ขยายเวลาให้เครดิตเทอม 30 วัน หนุนการฟื้นตัวแข็งแกร่ง

CPF ขยายเวลาโครงการ Faster Payment ให้เครดิตเทอมภายใน 30 วัน ไปอีก 3 เดือน เติมสภาพคล่องให้คู่ค้า SMEs จำนวน 6 พันราย สามารถฟื้นตัวได้เร็วที่สุด และเปิดรับโอกาสใหม่ๆ จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในปีนี้
คุณธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านการจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ CPF กล่าวว่า ตามที่ แนวทางระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (เครดิตเทอม) ให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและเกษตรกรระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน กรณีที่เป็นสินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมานั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ พิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนสูง และคู่ค้า SMEs ส่วนใหญ่ไม่ได้จัดหาวัตถุดิบทางการเกษตร บริษัทฯ จึงตัดสินใจขยายเวลาการดำเนินโครงการ Faster Payment ต่อไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม ปี 2565 นี้ เพื่อช่วยให้คู่ค้า SMEs ที่มีอยู่ 6 พันราย ได้รับเงินหมุนเวียนเร็วขึ้นและมีสภาพคล่องทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระหนี้สิน และต้นทุนลดลง
“การต่อเวลาโครงการ Faster Payment ไปอีก 3 เดือน นับเป็นของขวัญปีใหม่จาก CPF ที่ช่วยคู่ค้า SMEs ดำเนินงานและขยายงานตามแผนธุรกิจได้อย่างมั่นใจ สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งรักษากิจการให้ “อยู่รอด” ได้ และเติบโตอย่างมั่นคงในยุคนิวนอร์มอลต่อไป” คุณธิดารัตน์ กล่าว
CPF ริเริ่มโครงการ Faster Payment ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน รวม 15 เดือน เพื่อช่วยคู่ค้าธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs บรรเทาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตโควิด-19 หลัง SMEs ขาดรายได้อย่างรุนแรงและบางรายถึงขั้นปิดกิจการ โดยปรับลดระยะเวลาเครดิตเทอมให้คู่ค้า SMEs ได้รับเงินค่าสินค้าและบริการจากบริษัทภายใน 30 วัน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ช่วยให้ SMEs สามารถดำเนินกิจการ รักษาการจ้างงานไว้ได้ และเติบโตได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง
นอกจากโครงการ Faster Payment แล้ว CPF ยังพัฒนาศักยภาพคู่ค้า SMEs ด้านต่างๆ ภายใต้แนวทางการพัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน ทั้งการถ่ายทอดแบ่งปันนโยบายและแนวทางการจัดหาสินค้าและบริการที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การยกระดับมาตรฐานบริหารจัดการแรงงาน ตลอดจนร่วมมือกับ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สนับสนุนโอกาสให้คู่ค้าธุรกิจ SMEs มีความเข้าใจในการกำหนดแนวปฏิบัติการป้องกันการทุจริตได้อย่างเหมาะสมตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลในปีที่ผ่านมา มีคู่ค้า SMEs ของบริษัท 20 บริษัท เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
Cr.PR CPF